นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในงบประมาณปี 2566 กรมฯได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานภาคการเกษตร สู่เกษตรอัจฉริยะหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดโครงการศูนย์เรียนรู้ โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะขึ้น โดยมีเป้าหมายในการทำศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรฯ ทั่วประเทศ รวม 95 โรงเรือน และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้โรงเรือนละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานภาคการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ตั้งเป้าหมายให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 32,300 คน
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นอีกจังหวัดนำร่องที่มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรฯ จำนวน 15 แห่ง โดยระหว่างวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2565 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี จึงจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 15 คน เพื่อให้มีความรู้ และสามารถถ่ายทอดความรู้ แนะนำวิธีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ ได้อย่างถูกต้อง
การอบรมดังกล่าวในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้เช่นกัน และหลังจากนั้น จะขยายผลให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถสมัครเข้าอบรมโดยติดต่อได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วไประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
นายประทีป กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งปัจจัยภายในโรงเรือนและภายนอก เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้น ความชื้นดิน ความเข้มของแสง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืช การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ระบบให้น้ำ ระบบพ่นหมอก ระบบการกักเก็บหรือจัดน้ำและเทคโนโลยีอื่นๆ อีกหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกแบบมีโรงเรือน ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกพื้นในพื้นที่ของตนเองได้ จะช่วยให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น คุณภาพของพืชผักดีขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนและกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรอัจฉริยะ(Smart Farm หรือ Intelligent Farm) เป็นการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำสูง เข้ามาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ในยุคที่แรงงานในภาคเกษตรลดลงมาตลอดหลายปี ทำให้ภาคการเกษตรจำเป็นต้องมีการปรับตัวโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น
องค์ประกอบสำคัญในการทำฟาร์มอัจฉริยะจะต้องมี 3 ด้านด้วยกัน จึงจะทำให้ฟาร์มอัจฉริยะมีประสิทธิภาพนั่นคือ
1.การระบุตำแหน่งพื้นที่เพาะปลูก
2.การแปรวิเคราะห์ข้อมูลที่ตรงกับระยะเวลาของการเพาะปลูกพืช
3.การบริหารจัดการพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และต้องเข้ากับการเพาะปลูกพืชในชนิดนั้น ๆ
ด้วยเทคโนโลยีที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ความรู้ทางการทำการเกษตรอัจฉริยะมีมากขึ้นบนอินเทอร์เน็ต และทำให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นมาก เพราะการทำการเกษตรอัจฉริยะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการทำการเกษตรในศตวรรษที่ 21 โดยหากมีการใช้เทคโนโลยีที่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ มีเทคนิคในการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ควบคุมคุณภาพผลผลิต และสร้างมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการได้ง่ายและรวดเร็ว ผลผลิตจึงได้ราคาสูงกว่าฟาร์มทั่วไป
หลายฟาร์มในปัจจุบันเริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้ในการทำงานแล้ว โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการช่วยควบคุมและบริหารฟาร์ม เช่น การใช้ระบบการให้น้ำและปุ๋ยที่แม่นยำ ไม่จำเป็นต้องคาดเดาปริมาณการให้ปุ๋ยอีกต่อไป โดยนำเครื่องมือหรือเซ็นเซอร์มาคอยควบคุมเพื่อวัดค่าอุณหภูมิ ความชื้น สภาพความเป็นกรดด่าง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทุกวันนี้อุปกรณ์ไฮเทคที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นในราคาที่จับต้องได้ ถึงแม้ว่านวัตกรรมด้านการเกษตรจะยังคงหายากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในอาคตหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐ ในอนาคตเทคโนโลยีเกษตรของไทยจะพัฒนาขึ้นไปเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ ได้อย่างแน่นอน