หนาวมาเยือนแล้ว ‘หนอนเจาะสมอฝ้าย’ ภัยกุหลาบก็มาด้วย

หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cotton bollworm) เป็นหนอนที่เจาะเข้าไปกัดกินภายในดอกกุหลาบ ทำให้ดอกได้รับความเสียหายหนักจนเกษตรกรไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ ไม่มีดอกขาย ขาดทุนหนัก การระบาดของหนอนชนิดนี้มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน

หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cotton bollworm) Heliothis armigera (Hübner): Noctuidae วงจรชีวิต ไข่(2-3 วัน), หนอน(15-22 วัน), ดักแด้(10-12วัน), ตัวโตเต็มวัย(ผีเสื้อ) (7-18 วัน) สีของตัวหนอนเปลี่ยนไปตามวัยและชนิดของพืชอาหาร วัยแรก ๆ จะมีสีขาวนวล และเมื่อมีอายุมากขึ้น สีจะค่อย ๆ เข้มขึ้น มีขนเป็นหนามอ่อน ๆ มีนิสัยค่อนข้างดุเมื่อเทียบกับหนอนกระทู้อื่น ๆ

การเข้าทำลาย หนอนเจาะสมอฝ้ายมักจะทำลายดอกกุหลาบ หนอนมักจะเข้าไปอยู่ภายในกัดกินช่อเกสรและกลีบดอก ถ้ามีการทำลายของหนอนชนิดนี้ในขณะที่ดอกยังไม่บาน พบว่าใบเลี้ยงดอกจะไม่บานออกและดอกจะร่วงเสียไป และพบว่าทำลายในส่วนของใบและฝัก/ขั้วฝักในพืชอื่น พบระบาดทั่วไปทั้งประเทศ พบได้ตลอดปี แต่จะระบาดมากในพื้นที่สูงช่วงฤดูหนาว-ฤดูร้อน ระหว่างกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

ไบโอเทค สวทช. ขอเสนอ ‘ชีวภัณฑ์ไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus: NPV)’ เป็นทางเลือกในการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดย NPV เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในแมลง ไม่มีสารพิษตกค้างในพืช ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญช่วยลดสารเคมีและค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อีกด้วย

แม้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนมาใช้สารชีวภัณฑ์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เกษตรกรจะใช้สารชีวภัณฑ์ควบคู่กับสารเคมี ไวรัส NPV ใช้ได้กับ เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ล้วน หรือแม้แต่เกษตรเคมี ซึ่งปัญหาการใช้สารเคมีที่พบในการทำเกษตร คือ ใช้ปริมาณเกินความจำเป็นและพ่นติดต่อหลายครั้ง ทำให้แมลงหรือโรคดื้อต่อสารเคมีนั้น แต่ถ้าใช้ไวรัสเอ็นพีร่วมด้วย หนอนจะอ่อนแอลง เมื่อใช้สารเคมี หนอนจะตายดีขึ้น

“สารเคมีที่หนอนเคยดื้อ ถ้าใช้ไวรัสเอ็นพีวีนำไปก่อน พบว่าสารเคมีที่เคยใช้ไม่ได้ผลก็สามารถใช้ควบคุมหนอนได้ด้วย ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้สารเคมีและลดความเสี่ยงจากที่พ่นเคมีไปแล้ว แทนที่จะต้องเพิ่มอัตราการใช้สารเคมี ก็ให้สลับมาใช้ไวรัสเอ็นพีวี”

capture 20221209 170930
ระวัง หนอนเจาะสมอฝ้าย

จุดเด่นของไวรัสชนิดนี้ คือ มีความจำเพาะกับหนอน 3 ชนิด ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย เมื่อหนอนกินไวรัสเข้าไป จะป่วย กินอาหารได้น้อยลง และตายใน 5-7 วัน ซึ่งด้วยกลไกตามธรรมชาตินี้จะทำให้แมลงศัตรูพืชไม่เกิดการดื้อยา แตกต่างจากการใช้สารเคมีที่มักพบการดื้อยา

วิธีการใช้เชื้อไวรัส เอ็น พี วี

1) เลือกชนิดของเชื้อไวรัส เอ็น พี วี ที่ตรงกับศัตรูพืชที่ต้องการทำลาย

2) ใช้เชื้อไวรัส เอ็น พี วี อัตรา 20 – 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือให้ผสมตามคำแนะนำในฉลาก + สารจับใบ

3) ผสมน้ำฉีดพ่นในขณะที่หนอนยังมีขนาดเล็ก (ขนาดไม่ใหญ่เกินก้านไม้ขีดไฟ)และฉีดพ่นให้ทั่วใบและดอก

4)ตรวจสอบแมลงศัตรูพืชหลังฉีดพ่นได้ 5 – 6 วัน เก็บหนอนที่ตายด้วยเชื้อไวรัส เอ็น พี วี ไว้ทำหัวเชื้อต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกชนิดหนึ่งที่มีการปลูกเป็นการค้าในหลายพื้นที่ กระจายทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในปัจุบันมีแหล่งปลูกที่สำคัญที่มีศักยภาพในการผลิตคุณภาพสูงมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น

การปลูกกุหลาบตัดดอกสามารถผลิตในรูปแบบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยการผลิตสองรูปแบบนี้จะต้องคำนึงเลือกพื้นที่ผลิตที่ที่เหมาะสม ทั้งสภาพอากาศ ดิน และน้ำ  ซึ่งปัจจุบันมีหลายพื้นที่ของภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จังหวัดนครปฐมที่มีความพร้อม สามารถปลูกกุหลาบตัดดอกรูปแบบเชิงปริมาณที่ใหญ่แห่งหนึ่ง

กุหลาบถือได้ว่าเป็นไม้ดอกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะปลูกได้ทุกวัน อีกทั้งมีการดูแลที่ไม่ยุ่งยาก สามารถนำมาปลูกเป็นพืชเสริมสลับกับพืชหลักได้ ที่สำคัญตลาดยังให้การตอบรับอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเกษตรกรหลายคนหันมาปลูกกุหลาบตัดดอกกันมากขึ้นในหลายพื้นที่ แต่จะมีวิธีการปลูก ดูแลกุหลาบให้มีดอกที่ใหญ่ สีสด กลีบหนา ก้านยาว ตรงตามความต้องการของตลาดได้อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการดูแล

กุหลาบเป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการให้น้ำ  ต้องบริหารจัดการน้ำให้พอดี น้อยเกินไปอาจจะทำให้ต้นโทรม ใบร่วง มากเกินไปก็จะทำให้รากเน่า เกิดโรคได้ง่าย การใช้ระบบสปริงเกลอร์ ในการควบคุมการให้น้ำ เปิดประมาณ 10-15 นาที/วัน (ช่วงเช้า) ให้วันเว้นวัน เพียงเท่านี้ต้นกุหลาบก็จะให้ผลผลิต มีน้ำหนักดีตลอดทั้งปี