ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2566 ที่ยังคงเน้นย้ำนโยบายหลัก 15 ด้าน ได้แก่
1) นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” 2) การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก 3) การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start Up 4) การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) 5) การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) 6) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร 7) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 8) การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม 9) การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 10) การประกันภัยพืชผล 11) การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน 12) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน 13) การวิจัยและพัฒนา 14) การพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ข้อมูลพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 15) การประกันรายได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การทำงานในปี 2566 นี้ ยังคงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานยึดหลักยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบาย โดยให้ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของยุทธศาสตร์เกษตร 4.0 ซึ่งในยุคต่อไป 4.0 คงจะไม่พอ จึงต้องนำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย เพื่อนำมาลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร และบูรณาการการทำงานทั้งภายในกระทรวงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ที่สำคัญตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร โดยจะต้องสร้างเครื่องมือและสร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านการเกษตรและบุคลากรด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนเครดิต ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมกันวางแผนว่าจะให้เกษตรกรเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขระดับโลก ซึ่งจะต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะส่งออกสินค้าเกษตรได้ อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานมีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อาทิ
– การนำนโยบายรัฐบาล BCG Model ไปสู่การปฏิบัติ
– ด้านเกษตรปลอดภัย จะทำอย่างไรให้เกษตรกรปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย ซึ่งถือเป็นหัวใจของการผลิต และเป็นนโยบายแรกที่มุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างเข้มข้น
– การผลักดันค่าตอบแทนให้อาสาสมัครเกษตร
– การบริหารจัดการน้ำที่ดี การใช้น้ำอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด
– การแนะนำพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ พี่น้องเกษตรกร
– การคาดการณ์ตลาดโลก ตลาดผู้บริโภคในอนาคต การตั้งเป้าหมาย “เป็นครัวของโลก” ต้องมีแหล่งผลิตอาหารที่เพียงพอสำหรับคนและสัตว์ ส่งเสริมการปลูกสำหรับอาหารในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า
“อยากเห็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปลี่ยนเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ให้ภาคการเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศด้วย และได้ฝากให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อนำนโยบายดังกล่าวไปเป็นแนวทางไปปฏิบัติ โดยขอให้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้” ดร.เฉลิมชัย กล่าว