นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวโครงการ “GAP Monkey Free Plus” (MFP) ในเวทีการประชุมมะพร้าวระดับโลก “Consultative Virtual Meeting On Thailand Proposal for GAP Monkey Free Plus ซึ่งเป็นการประชุมที่ดำเนินการโดย International Coconut Community (ICC) ว่า กระบวนการไม่ใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก ICC และ Third Party เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวส่งออกไทย
โดยในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯสั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เดินทางไปเป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินมาตรการป้องกันการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก (Monkey Free Plus) และมอบหนังสือรับรองแปลงผลิตมะพร้าวปลอดภัยและไม่ใช้ลิง บ.เทพดุงพรมะพร้าว จำกัด จ.ราชบุรี และบริษัท เค-เฟรช จำกัด จ.สมุทรสาคร
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้เชิญชวนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวที่ได้รับการรับรอง GAP แล้ว เข้าสู่กระบวนการตรวจรับรองเป็นแปลงไม่ได้ใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว โดยสมัครเข้ารับการตรวจได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรใกล้บ้าน ส่วนแปลงที่ยังไม่ได้รับการรับรองเป็นแปลง GAP ก็ขอเชิญชวนให้สมัครเข้ารับการตรวจประเมิน ซึ่งการตรวจประเมิน สามารถทำควบคู่กันไป
คาดว่าหลังจากนี้จะมีแปลงมะพร้าวที่ได้รับการรับรองเป็นแปลง GAP Monkey Free Plus จำนวนมาก ซึ่งเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามมาตรการ GAP monkey free plus จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย และพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวอย่างแน่นอน
ในส่วนของผู้ประกอบการ นายสายชล จ้อยร่อย Supplier รายใหญ่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า มองเห็นความจำเป็นที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าว่า การส่งออกมะพร้าว ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus ดังนั้นจึงยินดีสนับสนุนในการตรวจรับรองแปลง GAP และการไม่ใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว โดยยินดีเป็นผู้นำในการตรวจรับรอง และสนับสนุนเกษตรกรที่รับซื้อ เข้ารับการตรวจรับรองเช่นกัน
ส่วนของผู้ดูแลการรับซื้อวัตถุดิบ เจ้าหน้าที่ของบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ได้กล่าวว่า ถ้าผู้ประกอบการล้ง เข้าใจในมาตรการการตรวจรับรองแปลงแล้ว จากนั้นล้งจะให้คำแนะนำเกษตรกรในเครือข่ายสู่กระบวนการตรวจรับรองแปลงต่อไป ซึ่งการรับรองจากภาครัฐ ลูกค้าของบริษัทจะให้ความเชื่อมั่นและยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการตรวจรับรองแปลง GAP
ประเทศไทยเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์กะทิมากที่สุดในอเมริกาและยุโรป ในปี 2564 ส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิ 236,323 เมตริกตัน มูลค่า 12,800 ล้านบาท รวมทั้งส่งออกมะพร้าวอ่อน 8,000 เมตริกตัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยผลิตมะพร้าวได้เพียง 917,606 ต้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในช่วงที่มะพร้าวขาดแคลน จึงต้องนำเข้า กรมวิชาการเกษตรจึงส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวใหม่ หรือปลูกทดแทนในสวนเดิม ด้วยพันธุ์ดี และสนับสนุนมาตรการ GAP monkey free plus เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงต่อการต่อยอดในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพืชสวน เจ้าหน้าที่กองพัฒนาระบบและมาตรฐานสินค้าพืช และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี ได้ลงพื้นที่นำร่อง จ. สมุทรสาคร โดยร่วมกับบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด บริษัท เค-เฟรซ จำกัด และบริษ้ทเอ็นซีโคโคนัท จำกัด เพื่อ Kick off การตรวจสอบแปลงมะพร้าวตามข้อกำหนด GAP Monkey Free Plus และมอบใบรับรองแปลง GAP Monkey Free Plus ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว เพื่อยืนยันว่าการปลูกมะพร้าวของไทย ไม่มีการใช้แรงงานลิงและเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ