อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงไม่เคยให้สัมภาษณ์โจมตี “ชลธี” อดีต ขรก.กรม เผยพร้อมชวนทุกฝ่ายจับมือบรูณาการทำงานเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยคุณภาพ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า กรมวิชาการเกษตรไม่เคยจับทุเรียนสวมสิทธิ์ โดยพาดพิงถึงกรมวิชาการเกษตรเสมือนว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ให้ข่าว นั้น จึงขอเรียนว่า กรณีดังกล่าวเป็นการที่สื่อนำเสนอเอง ไม่เคยมีการให้สัมภาษณ์ในประเด็นเหล่านี้ต่อสื่อรายที่นำเสนอแต่อย่างใด และยืนยันว่า ไม่ได้เป็นข่าวที่ออกจากกรมวิชาการเกษตร
ข้อสังเกตความผิดพลาดของการนำเสนอข่าว มีการเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน ขาดการตรวจสอบความถูกต้องข้อมูล เช่น ไม่มีการลงข้อมูลการจับกุมทุเรียนสวมสิทธิ์ ที่ กรมวิชาการเกษตรได้เคยจับกุมทุเรียนเวียดนามสวมสิทธิ์ จำนวน 18 ตัน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 และในวันที่ 29 มิถุนายน 2565 อีก ซึ่งล้วนเป็นผลการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เฝ้าระวังและบูรณาการทำงานกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นจะเห็นว่าในข่าว มีการเขียนชื่อหน่วยงาน กรมวิชาการเกษตร ผิด คือ เขียนว่า ด่านตรวจโรคพืชจันทบุรี ซึ่งที่จริงต้องเรียกว่า ด่านตรวจพืชจันทบุรี
ประเด็นสำคัญ คือในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโบาย 3 S คือเรื่อง คุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร มีนโยบายชัดเจนในการยกระดับคุณภาพมาตฐานสินค้าผักและผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน อย่างเข้มข้น ทั้งมอบนโยบาย ประชุม กำกับติดตามลงพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง
โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนไทยทั้งระบบ ตั้งแต่การวิจัยคัดเลือกพันธุ์ การปลูกดูแลรักษา การผลิตและการส่งออก การรับรองและขยาย GAP สำหรับแปลงทุเรียนที่มีทำการเกษตรที่ดี การรับรอง GAP และ GMP Plus เรื่องการป้องกันการแพร่ของโรคโควิด 19 ตามนโยบายของรัฐบาลไทยและ ตามมาตรการของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้ต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 สร้างรายได้ให้ประเทศนับแสนล้านบาท
อีกทั้ง จากความร่วมมือและทุ่มเทของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร และทุกฝ่ายทำให้คาดว่า กรมวิชาการเกษตรจะสามารถออกการรับรองรหัสสวน GAP ใหม่ของแปลงผลไม้ และทุเรียน ทั่วทั้งประเทศได้แล้วเสร็จภายในกลางเดือง ธ.ค. 2565 ได้อย่างแน่นอน ขอให้พี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการ อย่าได้กังวล นายระพีภัทร์กล่าว
นายระพีภัทร์ ย้ำว่า นโยบายของกรมวิชาการเกษตร คือการทำงานแบบ “DOA Together” คือการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาล เอกชนประชาชนเกษตรกร และภาคการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกรณีโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้อำนวยการ สวพ.เขตที่ 6 จันทบุรีนั้นเป็นการขยับขึ้นสู่ตําแหน่ง ผู้อํานวยการกองพัฒนาระบบและ รับรองมาตรฐานสินค้าพืช ซึ่งถือว่าเป็นตําแหน่งหลักที่สําคัญของกรมวิชาการเกษตรในการควบคุม คุณภาพมาตรฐาน พืช ผัก ผลไม้ และ ออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศการโยกย้ายจึงไม่ใช่มาจากความขัดแย้งใดๆ ตามที่มีความพยายามเสนอข่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า สำหรับนายชลธี ถึงแม้ว่า ได้ลาออกจากราชการแล้ว ก็ยังคงทำงานภาคเกษตรอยู่ และเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูง สามารถช่วยงานราชการ เอกชน และเกษตรกร ได้เป็นอย่างดี และยิ่งได้ทราบว่า ท่าน ชลธี จะช่วยเป็นหูเป็นตาในเรื่องการตรวจสอบการส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน ให้อีกด้วย จึงขอขอบคุณ และนับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับวงการทุเรียนไทย
สุดท้าย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า รมช มนัญญา และตนเอง มีกำหนดเดินทางไปยัง สวพ 6 จันทบุรี ในวันที่ 8 ธันวาคม นี้ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและสร้างความเชื่อมั่นการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับทุเรียนไทยให้ขึ้นชั้นผลไม้พรีเมี่ยมของโลก