เดือดไม่จบ! “ ชลธี ” โพสต์เขียนข่าวโจมตีให้ร้าย ทั้งที่ไม่รู้ว่าทุเรียนอ่อนไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่เคยรู้วิธีการทำงานของทีมเล็บเหยี่ยว แนะควรทำการบ้านแก้ปัญหาให้มากขึ้น
นาย ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 โพสต์ถึงนักการเมืองบางคน ข้อความว่า “ นักการเมืองบางคนเล่นไม่เลิก ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ทำแบบนี้ เพราะตอนนี้ผมก็ลาออกมาเป็นชาวสวนธรรมดาแล้ว การจ้างสื่อเขียนข่าวโจมตีให้ร้ายจะไปมีผลดีอะไรได้ กลับแสดงถึงความกลวงที่ไม่มีอะไรในหัว ไม่รู้ว่าทุเรียนอ่อนไม่ได้มีกฎหมายรองรับ ไม่รู้วิธีการทำงานของทีมเล็บเหยี่ยว เลิกเถอะครับท่าน ” ทันทีที่โพสต์นี้เผยแพร่ออกไป มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์จำนวนมาก
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีสื่อบางเว็ปไซด์และบางเพจ นำเสนอข่าวระบุว่า “ โชว์ผลงานมือปราบทุเรียนอ่อน เผย 3 ปี “ชลธี” จับทุเรียนอ่อนได้เพียงพันกว่าลูก แต่ไม่เคยจับทุเรียนสวมสิทธิ์แม้แต่รายเดียว ” พร้อมมีภาพ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลักษณะคล้ายให้ข่าว แต่ปรากฏเนื้อข่าว ไม่มีชื่อนายระพีภัทร์จันทรศรีวงศ์ เป็นผู้ให้ข่าวแต่อย่างใด
และในเนื้อข่าวยังมีสถิติการจับกุมทุเรียนสวมสิทธิ์ ตั้งแต่ปี 2563-2565 การจับกุมทุเรียนอ่อน ปี 2565 และยังมีหมายเหตุกำกับไว้ว่า ปี 2563-2565 ไม่มีคดีทุเรียนอ่อนดำเนินการโดย สวพ.6 และ สวพ.6 มีหน้าที่ตรวจสอบทุเรียนอ่อนโดยตรงหน่วยเดียว และตรวจทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนสวมสิทธิ์ก่อนปิดตู้ เพื่อส่งออกหรือเคลื่อนย้ายทุเรียนออจากล้ง
นาย ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 บอกว่า กรณีที่เกิดขึ้น ทั้งคนเขียนและคนให้ข่าว ไม่ได้รู้หรือเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในภาคตะวันออก เพราะ สวพ.6 ไม่มีอำนาจ หรือกฎหมายไปเอาผิดเรื่องทุเรียนอ่อนได้ ที่ผ่านมาแก้ปัญหาโดยการแต่ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาผลไม้ไม่ได้คุณภาพ แต่ละคณะ เช่น การตรวจมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการ การบังคับใช้กฎหมาย และอื่นๆ จากนั้นแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออก (จันทบุรี / ระยอง /และตราด) จะออกเป็นประกาศจังหวัด โดยเริ่มที่จันทบุรีก่อน กำหนดวันเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกว่าวันตัดทุเรียนแต่ละชนิด และกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนแต่ละชนิด เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมคุณภาพ
ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเรื่องทุเรียนอ่อน จะเป็นคณะทำงานเฉพาะขึ้นมา โดย สวพ.6 ฝ่ายปกครอง และตำรวจ จะเข้าตรวจสอบกรณีที่พบทุเรียนอ่อน เกินกว่าร้อยละ 10 ของทุเรียนในล้ง ทั้งหมดซึ่งการสุ่มตรวจทุเรียนก่อนส่งออก จะสุ่มคัดทุเรียนผ่าตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง อย่างน้อย 3 ลูก ที่กองอยู่ในล้ง คือ (ให้มือคัดของล้งคัดมา 1 ลูก /จนท.สวพ.6 คัด 1 ลูก และฝ่ายปกครอง 1 ลูก ผ่าตรวจ) หาก 2 ใน 3 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งผ่านเกณฑ์ที่ประกาศ ก็จะอนุญาตให้แพ็คบรรจุขึ้นตู้ได้ แต่หากไม่ผ่าน ก็จะให้ทางล้งคัดแยกทุเรียนอีกครั้ง และสุ่มตรวจใหม่ ซึ่งจะทำแบบนี้เพื่อให้จำนวนทุเรียนอ่อน ที่จะหลุดออกปลายตลาดปลายทางมีน้อยที่สุด
นาย ชลธี บอกว่า ล้งที่ทำทุเรียนอ่อน จะมีไม่กี่ล้ง ผู้ประกอบการที่ทำดีมีเยอะมาก แต่จะมีบางส่วนเท่านั้นที่ทำให้คนดีเสียหายไปด้วย และที่ผ่านมา สวพ.6 ก็จะเข้มงวดกับล้งสีแดง เป็นพิเศษ ส่วนล้ง สีเหลือง หรือสีส้ม จะเฝ้าระวัง เมื่อตรวจพบทุเรียนอ่อนก็จะให้คัดแยกออกมา ทำตำหนิด้วยการพ่นสีแดง และห้ามนำกลับไปขายเป็นผลสด แต่นำไปแปรรูปได้
เมื่อพบว่ามีทุเรียนอ่อนเกินประกาศจังหวัด สำหรับการควบคุมคุณภาพทุเรียน ทางฝ่ายปกครองพื้นที่นั้นๆจะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีตามประกาศจังหวัด โดยใช้กฎหมาย 2 เรื่อง คือ พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอยากจะบอกให้รู้ว่า สวพ.6 ไม่มีกฎหมายเอาผิด
ส่วนเรื่องทุเรียนสวมสิทธิ์ นั้น สวพ.6 ไม่มีอำนาจจับกุมที่หน้าด่าน เพราะทุเรียนสวมสิทธิ์มี 2 แบบ คือ น้ำเข้ามาแล้วรีแพ็คใหม่ ส่วนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของด่านตรวจพืชที่มีการนำนำเข้ามา หากพบสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จก็จับกุมได้ทันที /อีกส่วน คือ ตรวจปิดตู้ส่งออก โดยไม่แจ้ง สวพ. แต่ละพื้นที่ อันนี้จนท.ด่านปลายทางก่อนออกจากไทย จะทำการตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบต้องสงสัยจะขอรื้อตู้ตรวจสอบทั้งหมด เหมือนเช่นที่ด่านตรวจพืชมุกดาหาร และด่านตรวจพืชนครพนม ตรวจพบ
เมื่อถามว่า มีบางเคส ตรวจพบทุเรียนนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทย และตรวจพบที่ล้งบางแห่ง จึงมีการแจ้งความดำเนินคดี “ชลธี” บอกว่า นั่นแหละต้องถามด่านตรวจปล่อยเข้ามาได้อย่างไร
มีรายงานว่า ผู้บริหารระดับสูง กรมวิชาการเกษตร เริ่มกังวลใจกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองและนายชลธี จึงมีการส่งข้อความแจ้งไปยัง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อแจ้งว่าเรื่องข่าวที่เขียนโจมตีนายชลธี ตัวเองไม่เกี่ยวข้อง แต่เกิดขึ้นจากคนบางกลุ่มที่ไม่พอใจนายชลธี และนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องทุเรียน
ขณะที่นายวิโรจน์ เกียรติเก่งกล้า จากสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย เปิดเผยว่า วันที่ 8 ธันวาคม 2565 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ และคณะ จะมาเปิดงานงานพืชสวนก้าวหน้า ที่ จ.จันทบุรี ได้หารือกับนายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย แล้วว่า ชาวสวนภาคตะวันออก และสมาคมฯ จะยื่นเรื่องให้ รมช.มนัญญาฯ เพื่อขอความชัดเจนในการแก้ปัญหาทุเรียนภาคตะวันออก ที่จะออกผลผลิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งการควบคุมคุณภาพทุเรียนจะเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่ /มาตรฐานการส่งออก รวมถึงกฎหมายเอาผิดกลุ่มผู้ค้าทุเรียนอ่อน และอื่นๆ