สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ฯ ร่อนหนังสือทวงถามรัฐ วอนแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงหวั่นโรงงานปิดกิจการ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยมีหนังสือทวงถามความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารสัตว์และผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ ไปยังนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นการทวงถามอีกครั้งหลังส่งหนังสือฉบับก่อนหน้าไปแล้ว 2 เดือน ไร้เสียงตอบรับ

5bce146072aa594c34105d06b9dfe715b7e17289b54c77f8f5b97a77f31e8ca5

ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้พยายามนำเสนอปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาดำเนินการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกรอบ WTO โดยมีเงื่อนไขการจำกัดจำนวนนำเข้าและเวลานำเข้าในช่วงสั้นๆ (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อเสนอ 1 จาก 3 ข้อ ที่สมาคมร้องขอ ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับลดลงได้ วันที่ 2 กันยายน 2565 สมาคมได้มีหนังสือไปถึงรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ขอให้รัฐปรับนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาหารสัตว์และผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด

a98e11751a01b5413bea4367d33dd2d7496693f99039506f91d7b4b705f7005d

นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า สมาคมคงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะมีสมาชิกร้องเรียนเข้ามาว่าได้ยื่นเสนอโครงสร้างต้นทุนเพื่อขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น ไปยังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด การขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปถึงปี 2555 ซึ่งตอนนั้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักกว่า 70% ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาต่ำกว่าปัจจุบันนี้อย่างมาก

นายพรศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สมาคมได้คาดการณ์ว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะยังคงสูงต่อเนื่องไปอีก 6 เดือนต่อจากนี้ จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงมีความไม่แน่นอน และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ (อัตราแลกเปลี่ยนใน ปี 2555 อยู่ที่ 30-31 บาท/เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 36-37 บาท/เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ) จึงต้องมีหนังสือติดตามความคืบหน้าไปอีกฉบับเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำแบบเร่งด่วนที่สุด คือ การอนุมัติปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นในทันที เช่นเดียวกับที่ทำให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และต้องทำควบคู่ไปกับการปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทม์ไลน์การแก้ปัญหา “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ยืดเยื้อมายาวนาน หลังราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดและยิ่งแพงมากขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากสองประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลกเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบสำคัญอย่างข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ไม่เพียงราคาที่สูงขึ้นแต่ปริมาณก็ยังขาดแคลนด้วย ทั้งหมดกระทบการผลิตอาหารสัตว์ และส่งผลต่อเนื่องไปถึงต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ต่อเนื่องไปถึงราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องซื้อหา

ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นที่รัฐยังแก้ไม่สำเร็จ มีเสียงวิจารณว่าเป็นเพราะการไม่ใช้ตัวเลขของกรมปศุสัตว์ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐมาเป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหา อาทิ ตัวเลขความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ผลการพิจารณาคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น รวมถึง การตัดการพิจารณาข้อเสนอผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ออก เพียงเพราะมีพ่อค้าพืชไร่แจ้งว่า ข้าวโพดนั้นมีเพียงพอในการซื้อเพื่อสะสมสิทธิ์ในการนำเข้าข้าวสาลี โดยที่รัฐเองยังไม่ทราบว่าสิทธิ์ในการซื้อข้าวสาลีอยู่ในมือใครและมีเท่าไหร่ นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีการพิจารณาการลดภาษีกากถั่วเหลืองด้วย