กรมการค้าต่างประเทศเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบมันเส้นทั้งนำเข้าและส่งออก เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด สร้างการยอมรับมันเส้นไทย และยกระดับราคามันสำปะหลังในประเทศ ล่าสุดฟันแล้ว 2 ราย นำเข้ามันเส้นต่ำกว่ามาตรฐาน สั่งห้ามนำเข้าชั่วคราวจนกว่าจะนำมันเส้นที่มีปัญหาไปปรับปรุง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลมาตรฐานมันเส้นทั้งนำเข้าและส่งออก ได้เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่คุมเข้มในเรื่องของมาตรฐานสินค้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามันเส้นที่นำเข้าและส่งออก เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เพราะปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ฤดูการค้ามันเส้น เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศเพื่อนบ้าน และของไทยเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ส่งผลให้ตลาดซื้อขายมันเส้นคึกคักขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ในการนำเข้าได้สั่งการให้เพิ่มชุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่เป็นจุดนำเข้ามันเส้นจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากการตรวจสอบพบผู้ประกอบการ 2 ราย นำเข้ามันเส้นที่มีมาตรฐานต่ำกว่าที่กำหนด จึงได้ดำเนินการลงโทษโดยพักทะเบียนผู้ประกอบการดังกล่าว และไม่สามารถนำเข้ามันเส้นได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะนำมันเส้นที่มีปัญหาไปปรับปรุงให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และในการส่งออกได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดตรวจมาตรฐานมันเส้นที่ส่งออก
“กรมฯ ต้องการควบคุมมาตรฐานสินค้าทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพราะไทยเป็นผู้ค้ามันเส้นที่ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าในเรื่องของมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะทำให้การค้ามันเส้นของไทยพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และจะช่วยให้ราคามันสำปะหลังในประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังของไทย”นายรณรงค์กล่าว
สำหรับการตรวจมาตรฐานมันเส้นนำเข้าและส่งออก จะเป็นไปอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนพ.ย.2565 ถึงเดือนมี.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการซื้อขายมันเส้นกันมาก จึงขอส่งสัญญาณไปยังผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้เน้นเรื่องมาตรฐานสินค้าเป็นสำคัญ หากพบผู้ประกอบการรายใดนำเข้าหรือส่งออกมันเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน จะลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มันเส้น เป็นอาหารสัตว์อีกประเภทหนึ่ง และเป็นที่นิยมของเกษตรกรที่เลี้ยงโค มีการใช้มันสำปะหลังในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ดในสูตรอาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ มันเส้นและมันอัดเม็ดมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบอาหารประเภทเดียวกัน เช่น ข้าวโพดหรือปลายข้าว การใช้มันสำปะหลังในการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตสัตว์ให้ต่ำลง
แม้มันเส้นจะมีโปรตีนน้อยแต่มันเส้นก็มีความปลอดภัยจากสารพิษอะฟลาทอกซิน ซึ่งสารนี้มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและการให้ผลผลิตของสัตว์ ในอดีตมันเส้นยังไม่เป็นที่นิยมใช้ในสูตรอาหารสัตว์ ทั้งที่ประเทศไทยส่งมันเส้นที่ผลิตได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไปขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในต่างประเทศ เพราะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้มันเส้นในสูตรอาหารอย่างถูกต้อง
การที่จะได้มันเส้นที่ดีต้องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในฤดูแล้ง และเมื่อขุดหัวมันสำปะหลังแล้วต้องตัดหัวแต่ละหัวแยกออกจากเหง้าหรือส่วนโคนออกอย่าให้เหลือ เพราะจะทำให้ย่อยยาก จากนั้นทำความสะอาดหัวมันสำปะหลังโดยการเคาะดินที่ติดมาให้หมด ซึ่งสามารถเอาเปลือกนอกของหัวมันออกได้ จากนั้นสับหัวมันขนาดชิ้นพอเหมาะ การสับนี้สามารถสับด้วยมือหรือเครื่องจักรก็ได้ แล้วตากให้แห้งซึ่งจะต้องแห้งสนิทจึงจะสามารถนำมันสำปะหลังที่ตากแห้งแล้วนั้นเข้าเครื่องบดหรือเครื่องผสมอาหาร
โดยสรุปขั้นตอนการทำมันเส้น หั่นมันสำปะหลังเป็นชิ้นเล็ก ๆ และผึ่งแดดให้แห้งอย่างน้อย 3-4 แดด เนื่องจากในมันสำปะหลังสดจะมี“สารไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์” เป็นสารที่ปลดปล่อยกรดไฮโดรไซยานิค ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ได้
การตากแดดและสต็อกมันเส้นเป็นเวลานานจะทำให้สารพิษในมันเส้นลดลง อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ ในทางกลับกันมันสำปะหลังที่มีกรดไฮโดรไซยานิคในระดับต่ำกลับมีประโยชน์ เมื่อสัตว์ได้รับเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็นสารไทโอไซยาเนต ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งในวัตถุดิบอื่นไม่มี มันเส้นที่ใช้เลี้ยงสัตว์ควรเป็นมันเส้นที่มีคุณภาพดี หรือมันเส้นสะอาด ที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 13 ระดับเยื่อใยไม่เกินร้อยละ 3.50-4.00 มีการปนเปื้อนของทรายไม่เกินร้อยละ 2 และมีแป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 70