นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายไมเคิล มิคาลัค รองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาค สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (US-ASEAN Business Conncil : USABC) พร้อมด้วย นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร. วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐได้เข้ารับทราบข้อมูลนโยบายเกษตรของไทยและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้นำหลัก 5 ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 3. ยุทธศาสตร์ 3S คือ Safety-Security-Sustainability 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และ 5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตร รวมถึงความร่วมมือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรสู่ระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน
สำหรับการหารือ กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูล Big Data ด้านการเกษตรมาใช้ การส่งเสริมตลาด E-Commerce และการสนับสนุนและผลักดันสินค้าสู่ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) รวมถึงการสร้าง Young Smart Farmer เพื่อมุ่งพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้เป็น Smart Production ให้มีคุณภาพสูงและปลอดภัย เพื่อรองรับเกษตร 4.0 ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรและหากมีความร่วมมือระหว่างกัน ก็จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
นายนราพัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง BCG Model เป็นหัวใจหลักในการประชุมระดับผู้นำเอเปคที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทั้งนี้ หวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมสนับสนุน BCG model ตามเป้าหมายร่วมกันของเอเปค 2022 และสานต่อในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2023
ทั้งนี้ ภาคเอกชนสหรัฐฯ แสดงความชื่นชมการดำเนินการของไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรมและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ ให้การดำเนินงานตามนโยบายด้านเกษตรบรรลุผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันเป็นโลกแห่งเกษตรยุคใหม่ ด้วยความก้าวหน้าของโลกดิจิตอลทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร ก้าวเข้าสู่การเป็น smart farmer หรือเกษตรกรอัจฉริยะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้ชีวิตแบบเกษตร 4.0 ง่ายขึ้น และผันตัวจากการเป็นผู้ผลิต มาเป็นผู้ผลิตพร้อมทั้งแปรรูปและจัดจำหน่าย กลายเป็นนักธุรกิจเต็มตัว เพราะในปัจจุบันเกษตรกรสามารถค้าขายผ่านระบบออนไลน์บนเครื่องโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกสบาย เชื่อมโยงให้เกิดการสั่งซื้อผ่าน Application ต่าง ๆ การรับโอนเงินผ่านระบบออนไลน์แบงก์กิ้ง และการส่งของด้วยบริษัทเอกชนที่รวดเร็ว ซึ่งทำให้ตัดเรื่องการสูญเสียผลกำไรบางส่วนให้แก่พ่อค้าคนกลาง ขอเพียงแค่สามารถต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตทุกอย่างก็ง่ายดายขึ้น
อาชีพเกษตรกรยุคใหม่ เป็นเรื่องของการนำแนวคิดการจัดการพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งาน เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตในแปลงนาหรือในฟาร์มของเกษตรกรเอง มีการนำระบบ GPS มาใช้เพื่อสแกนคุณภาพและสมบัติของดิน มีการจัดการข้อมูลและการเชื่อมต่อเครื่องมือต่าง ๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถบริหารกระบวนการการทำการเกษตรได้สะดวกขึ้นโดยใช้เซ็นเซอร์ช่วยตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดในหน้างานได้อย่างแม่นยำ และเมื่อเราเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้รวดเร็ว ทำให้ปรับกลยุทธ์ในการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการควบคุมโรคและกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยได้เต็มที่เพียงแค่อ่านข้อมูลบนมือถือเท่านั้น ยุค เกษตร 4.0 นี้เกษตรกรยังสามารถตรวจสอบความต้องการอาหารของสัตว์แต่ละตัวได้ดีขึ้นและปรับโภชนะให้สอดคล้องกัน เพื่อป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพของฝูงปศุสัตว์ได้อีกด้วย