กรมประมงแจง การจัดการทรัพยากรประมงทะเล ยึด 3 หลัก กฎหมาย-วิชาการ-สังคม พร้อมหารือประมงพื้นบ้าน- พาณิชย์ หาทางออกร่วมกัน 30 พ.ย.นี้

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวระบุว่า มาตรการประมงไทย หลังปลดใบเหลือง IUU ได้เมื่อปี 2562 ไม่มีการควบคุมสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามมาตรา 57 แห่ง พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เอื้อประมงพาณิชย์ หวั่นปีหน้า ประมงไทยจะโดนใบเหลืองซ้ำ กรมประมงจึงขอชี้แจงประเด็นดังกล่าวดังนี้

กรมประมงมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชาวประมง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตามหลักสากล โดยได้แบ่งทรัพยากรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สัตว์น้ำหน้าดิน จับได้จากอวนลากเป็นหลัก 2) ปลาผิวน้ำ จับได้จากอวนล้อมจับเป็นหลัก และ 3) ปลากะตัก จับได้จากอวนล้อมจับปลากะตัก และอวนครอบ/ช้อน/ยกปลากะตัก เป็นหลัก

ปัจจุบันมีเรือประมงพาณิชย์ 9,608 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 50,012 ลำ โดยในปี 2564 มีผลจับสัตว์น้ำทั้งหมด 1,297,000 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง หรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เท่ากับ 978,000 ตัน หรือร้อยละ 75.4 ของผลจับสัตว์น้ำทั้งหมด และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เรียกว่าปลาเป็ด เท่ากับ 319,000 ตัน หรือร้อยละ 24.6 (ประกอบด้วยปลาเป็ดแท้ ปลากะตัก และสัตว์น้ำวัยอ่อน) ซึ่งผลจับสัตว์น้ำจากอวนลากแบ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และปลาเป็ด

โดยปลาเป็ดประกอบไปด้วยสัตว์น้ำ 3 ส่วน คือ 1) ปลาเป็ดแท้ หมายถึง สัตว์น้ำที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วยังมีขนาดเล็กอยู่ ซึ่งไม่นิยมนำมาบริโภค 2) ปลากะตัก เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก ความยาวลำตัวสูงสุด 8-9 เซนติเมตร นิยมนำมาทำน้ำปลา และ 3) สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ซึ่งสามารถเจริญเติบโตเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่นำมาบริโภคได้ ในปี 2564 ปริมาณการจับสัตว์น้ำจากอวนลากในน่านน้ำไทยเท่ากับ 554,600 ตัน แบ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 262,300 ตัน และปลาเป็ด 292,300 ตัน โดยเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนประมาณ 190,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 34.3 ของผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดจากอวนลาก ส่วนอวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก และอวนครอบ/ช้อน/ยกปลากะตัก มีผลจับปลาเป็ดรวมกัน 22,635 ตัน

%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2 2
ปลา

ทั้งนี้ สัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ปลาทู พบว่า ปริมาณการจับปลาทูในน่านน้ำไทยเฉลี่ยรอบ 10 ปี (ปี 2551-2560) เท่ากับ 94,458 ตัน โดยในปี 2563 และ 2564 มีปริมาณการจับปลาทู 26,562 และ 31,810 ตัน ตามลำดับ ส่วนในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการจับปลาทูไม่ต่ำกว่า 42,000 ตัน แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการจับปลาทูมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ในส่วนของการอนุรักษ์สัตว์น้ำขนาดเล็กตามมาตรา 57 นั้น กรมประมง และทุกภาคส่วนมีความพยายามที่จะหาแนวทางดำเนินการหาทางออกร่วมกันมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา เมื่อปี 2563 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อกำหนดชนิดและขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และหลักเกณฑ์ในการกำหนดร้อยละของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตามมาตรา 57 และ 71 (2) สำหรับเป็นแนวทางในการประกาศกำหนดการจับ หรือการนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือประมง

และในช่วงปี 2564 – 2565กรมประมงนำข้อมูลจากการศึกษาของคณะทำงานไปประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ข้าราชการและสมาคมประมงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ได้นำมาเสนอคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติที่เหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง

กระทั่ง ล่าสุดกรมประมงได้เสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กตามมาตรา 57 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 โดยมีการนำเสนอข้อมูล ทั้งเรื่องของความเป็นมาในการดำเนินตามมาตรา 57 การรับฟังความคิดเห็นมาตรการในการจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำขนาดเล็กที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

เช่น การประกาศมาตรการปิดอ่าว ในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน การกำหนดห้ามมิให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน การกำหนดขนาดตาอวนก้นถุงของเรืออวนลากไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบหมึกไม่น้อยกว่า 3.2 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบปลากะตักไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร และการกำหนดตาอวนของลอบปูไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว และบทกำหนดโทษฯ ซึ่งมีโทษปรับต่ำสุด 10,000 บาท กรณีเรือพื้นบ้านขนาดเล็ก และสูงสุดถึง 30 ล้านบาท กรณีเรือตั้งแต่ 150 ตันขึ้นไป และถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง ที่อาจถูกคำสั่งทางปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตและมีผลถึงการขอใบอนุญาตในรอบปีการประมงถัดไป อีกทั้ง ผลการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในปัจจุบันพบว่า การลงแรงประมงลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับการลงแรงประมงที่ให้ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (msy) นั่นคือไม่อยู่ในสภาวะการทำประมงเกินกำลังการผลิต (Overfishing)

โดยในการแก้ปัญหาการคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อน กรมประมงจะเร่งดำเนินมาตรการใน 3 แนวทาง ดังนี้ 1) โครงการนำเรือออกนอกระบบ กลุ่มเรือ 1,434 ลำ เพื่อลดการลงแรงประมง 2) การปรับปรุงประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทู และ 3) การปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับการกำหนดขนาดตาอวน เช่น การกำหนดขนาดตาอวนทั้งผืนให้มีขนาดตาอวนไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร เพื่อเป็นการลดการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เป็นต้น มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้สามารถลดการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้ในภาพรวมต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้ กรมประมงได้เชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาหาแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงอยากขอให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

รองอธิบดีฯ กล่าวสรุปสุดท้าย ว่าในการต่อสู้กับการประมงผิดกฎหมาย รัฐบาลได้มีความร่วมมือกับสหภาพยุโรป มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลไกคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับสหภาพยุโรปในการต่อต้านการประมง IUU ภายหลังจากการปลดใบเหลืองของไทยเมื่อปี 2562 โดยคณะทำงานได้มีการพูดคุยหารือกันในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมง IUU ได้แก่ กรอบกฎหมาย การบริหารจัดการกองเรือและทรัพยากรประมง การติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง การบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและการทำการประมงของชาวประมงไทยต่อไป โดยยึดหลักทางกฎหมาย วิชาการ และสังคม ตามมาตรฐานสากล ดังคำที่ว่า “ทรัพยากรอยู่ได้ ชาวประมงอยู่ได้” ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์