เมื่อวันก่อนเห็นข่าว “ผลไม้ไทย” เหินฟ้าตรงสู่ตลาดจีน รมว.พาณิชย์ ลุยส่งผลไม้ไทยกว่า 200 เที่ยวบิน จำนวน 35,600 ตัน
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออก “ผลไม้ไทย” ทั้งผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แห้งและผลไม้แปรรูปในปี2565 เป็นมูลค่า 280,000ล้านบาท เพิ่มจากการส่งออกในปี2564 ซึ่งมีมูลค่า250,000ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 30,000 ล้านบาท
และปีนี้ ( 2565 ) ประเมินว่า “ผลผลิตผลไม้” จะมีปริมาณมากถึง 5.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11%
ผลผลิตคร่าว ๆ แยกเป็น “ทุเรียน” ปริมาณ 1.48 ล้านตัน เพิ่ม 26.26% , “มังคุด” ปริมาณ 3.88 แสนตัน เพิ่ม 43.30% , “ลำไย” ปริมาณ 1.69 ล้านตัน เพิ่ม 8.4% , “เงาะ” ปริมาณ 3 แสนตัน เพิ่ม 5.99%, “ลิ้นจี่” ปริมาณ 3.7 หมื่นตัน เพิ่ม 4% “ลองกอง” ปริมาณ 7.7 หมื่นตัน เพิ่ม 1% และ“มะม่วง” ปริมาณ 1.44 ล้านตัน เพิ่ม 5.24%
“ผลผลิตผลไม้”ทั้งหมด เป็นการบริโภคในประเทศสัดส่วน 30% และส่งออกไปขายต่างประเทศสัดส่วน 70%
“ตลาดในประเทศ” ขายผ่านห้าง ตลาด รถเร่ ร้านอาหาร และแปรรูป
“ตลาดต่างประเทศ” ส่งออกไปจีนมากที่สุด ตามด้วย สหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม และมาเลเซีย
ดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปีนี้จึงน่าจะเป็น “ปีทอง” ของ “ผลไม้ไทย” อีกปีหนึ่ง และนับตั้งแต่ “ผลผลิตผลไม้” เริ่มออกสู่ตลาดก็ยังไม่มีปัญหาในเรื่อง“ราคาตกต่ำ” เป็นการเดินตามแผนที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ได้จัดทำมาตรการเอาไว้ล่วงหน้า คือ มาตรการ 17+1 โดยจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมาตรการเปิดด่านเพิ่มขึ้นมาเป็นมาตรการที่ 18 มีการ “ระบายผลไม้” ตามมาตรการ 17+1 ปริมาณ 2.44 แสนตัน เตรียม “สต๊อก” สำหรับทำผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง 1.2 แสนตัน และระบายผลไม้ผ่านการจัดงาน “พาณิชย์ Fruit Festival 2022” อีก 1.45 แสนตัน
โดยงานพาณิชย์ Fruit Festival 2022 เป็นงานล่าสุด จัดขึ้นที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 2-8 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา และยังมีการเปิดจุดจำหน่ายทั่วประเทศอีก 10,092 จุด ประกอบด้วยห้างโมเดิร์นเทรด ร้านค้าปลีก-ส่ง ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น โดยเป็นจุดในกรุงเทพฯ และรถเร่ 500 จุด ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด
ปรากฏว่า ได้รับการ “ตอบรับ”จากผู้บริโภคเป็นอย่างดี มีการเข้าไปเลือกซื้อผลไม้กันอย่าง “คึกคัก” โดยเฉพาะทุเรียน
สำหรับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาด “จีน” ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ที่ไทยส่งออกถึง 90% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด แยกเป็น “การขนส่งทางเรือ” ปริมาณ 3.9 แสนตัน คิดเป็น 83% ของการขนส่งทั้งหมด ผ่าน 5 สายเรือ คือ Cosco , SITC, หยางหมิง, Maersk และ Wanhai โดยขึ้นที่ท่าเรือเซอโข่ว 26.5% ท่าเรือหนานซา 20% ฮ่องกง 20% จ้านเจียน 13.5% ซินโจว 13.5 เซี่ยเหมิน 6.5%
“การขนส่งทางอากาศ” ปริมาณ 3.6 หมื่นตัน คิดเป็น 6.5% เตรียมไว้ 3 ท่าอากาศยานของจีน คือ 1.กว่างโจว 80% 2.เซินเจิ้น 13% 3.คุณหมิง 7% โดย 4 สายการบิน คือ 1.การบินไทย 2.ไทยไลออนแอร์ 3.แอร์เอเชียเอ็กซ์ 4.ไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์ ที่เหลืออีก 10.5% เป็น “การขนส่งทางบก” ไปสู่ 4 ด่านของจีน คือ โม่ฮาน โหย่วอี้กวาน ตงซิง และผิงเสียง
ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมดำเนินมาตรการอื่น ๆ เช่น การจัดงาน “Thai Fruits Golden Months” จำนวน 8 ครั้ง ใน 8 เมืองหลักของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว หนานหนิง เฉิงตู เซินเจิ้น เซี่ยเหมิน หนานชาง และคุนหมิง การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย “ผลไม้ไทย” ร่วมกับผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า และช่องทางออนไลน์ในประเทศต่าง ๆ
ที่เด็ดสุด จะเป็นการจัดกิจกรรมในช่วงการจัดงาน THAIFEX-Anuga Asia 2022 วันที่ 24-28 พ.ค.2565 และข่าวว่า จะมีการร่วมมือกับ “แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง” จัด “ไลฟ์สด” ขายผลไม้ไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออกผลไม้ในปีนี้
เห็นแบบนี้แล้ว ดีใจกับชาวสวนผลไม้ เพราะถ้าไม่มี “ปัญหา” หรือ “วิกฤต” อะไรมาซ้ำเติม
ปีนี้ น่าจะเป็น “ปีทอง” อีกปีหนึ่ง
ขอบคุณ ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์