สศก.เคาะตัวเลขดัชนีผาสุกเกษตรกรปี 64 อยู่ที่ระดับ 81.10 พัฒนาในระดับดี

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทยว่า ที่ผ่านมา สศก. ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกรเป็นประจำทุกปี และใช้เป็นตัวชี้วัดของแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ ความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจการเกษตรเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณดัชนี เป็นข้อมูลจากการสำรวจของหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงทำให้ข้อมูลล่าช้าไป1 ปี และนำมาคำนวณโดยประยุกต์จากสูตรดัชนีความยากจนของคน (Human Poverty Index: HPI) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)

อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในปี 2564 สศก. ได้นำมาเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งจากเดิมต้องเปรียบเทียบกับปี 2563 เนื่องมาจากสาเหตุการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้บางหน่วยงานไม่สามารถลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานบางตัวที่ใช้ในการคำนวณดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ปี 2563 ได้

สำหรับดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2564 มีค่าอยู่ที่ระดับ 81.10 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 81.48 และเมื่อพิจารณาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ในปี 2564 พบว่า ภาคกลางมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 82.33 รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้อยู่ที่ระดับ 82.23 ภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 81.12 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 80.54 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี โดยมีรายละเอียดในแต่ละด้าน ดังนี้

316829345 446996007606741 7808052932031844392 n
ดัชนีด้านต่างๆ

ดัชนีด้านสุขอนามัย ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 98.77 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.79 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 99.22 รองลงมา ได้แก่ ภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.98 ภาคเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.21 และภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 97.78 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพการให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร และการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมบริเวณที่พักอาศัยตามหลักสุขาภิบาลให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข

317088138 446996100940065 6123690304815713858 n
ดัชนีด้านต่างๆ

ดัชนีด้านสังคม ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 92.64 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 92.67 โดยภาคกลางมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 94.98 รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 92.37 ภาคเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 92.36 และภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 90.39 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเตรียมแผนรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545-2565) ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัว มีค่านิยมในการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแล มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ และยังมีโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงจูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรมากขึ้น

ดัชนีด้านเศรษฐกิจ ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 77.31 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 75.58 โดยภาคใต้มีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 86.28 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 78.60 ภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 76.96 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง และภาคเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 69.15 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง แม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

รวมทั้งในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายและมาตรการในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรรวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 64.49 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.60 โดยภาคเหนือมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 77.48 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา ได้แก่ ภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 66.24 ภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 60.74 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 57.08 เป็นการพัฒนาอยู่ระดับต้องเร่งแก้ไข เป็นผลจากปี 2564 มีพื้นที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดิน 2.02 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.67 ล้านไร่ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาครัฐดำเนินการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าภายใต้โครงการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้กับชุมชน เพื่อทำเกษตรกรรมและเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในชุมชน

ดัชนีด้านการศึกษา ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 56.28 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.09 แต่ยังคงเป็นการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข โดยภาคใต้มีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 62.19 รองลงมาเป็นภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 60.15 ซึ่งเป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 56.03 และภาคเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.67 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ เนื่องจากสมาชิกครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ในทุกภาคได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จึงมีผลต่อการปรับตัวและขาดองค์ความรู้ในการเพิ่มการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาและจัดทำดัชนีความผาสุกเกษตรกร สศก. ได้สรุปข้อเสนอแนะในการพัฒนาแต่ละด้าน ดังนี้ ด้านการศึกษา ควรดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกครัวเรือนเกษตรได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ตลอดจนให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการทำเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการผลิต ด้านสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินการส่งเสริมการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การปลูกสวนป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ควรเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้ครัวเรือนเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินในระดับต่ำ โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและเพิ่มความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งเสริมให้ครัวเรือนเกษตรทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนด้านรายได้จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนเกษตรและบัญชีฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการลงทุนทางการเกษตรได้อย่างเป็นระบบ

ด้านสังคม ควรดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่/สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคใต้ เพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงประสบการณ์ระหว่างกัน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมถึงลดต้นทุนจากการใช้ปัจจัยการผลิตและวางแผนการตลาดร่วมกันนำไปสู่การเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร

และด้านสุขอนามัย ควรดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสุขาภิบาลที่พักอาศัย และสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านและชุมชน