นายกฯย้ำสภาเกษตรกรทำงานเพื่อสมาชิก พร้อมผลักดันการเกษตรสมัยใหม่สร้างรายได้มั่นคง สร้างโอกาส สร้างความเข้มแข็ง ให้พึ่งพาตนเองได้

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายขับเคลื่อนงานด้านการเกษตร ย้ำผลักดันการเกษตรสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างโอกาส สร้างความเข้มแข็ง ให้พึ่งพาตนเองได้ ขอสภาเกษตรกรตั้งใจทุ่มเททำงานเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรกว่า 20 ล้านคน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2-4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ 

โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประเภทผู้แทนเกษตรกรและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีชมวีดิทัศน์ผลการดำเนินงานพร้อมรับฟังรายงานความสำคัญของการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดและการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในรอบ 6 ปี เพื่อให้มีผู้แทนองค์กรเกษตรทำหน้าที่เป็นสภาเกษตรกรตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องภายใต้แนวคิด“ร่วมสืบสานอุดมการณ์ที่ผ่านมา ด้วยศรัทธาสู่การเลือกตั้งสภาของเกษตรกร” เพื่อทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือและเร่งรัดขับเคลื่อนงานด้านการเกษตร ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรรวมทั้งการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรและครอบครัวมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและครอบครัว

จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานและมอบนโยบายว่า เกษตรกรคือรากแก้วของแผ่นดินและประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม รัฐบาลมีความห่วงใยและคาดหวังให้มีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งจากการได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศและได้พบปะเกษตรกรทำให้รับทราบปัญหาความเดือดร้อน เช่นปัญหาหนี้สิน ปัญหาแหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิต รวมทั้งภัยธรรมชาติ และวิกฤติโรคระบาดที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้พยายามให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การมอบเงินช่วยเหลือ การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การจ้างแรงงานเกษตรกร การปรับโครงสร้างการผลิตการแปรรูปและการตลาด ซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญเพื่อสร้างโอกาสสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้เพื่อทำให้สินค้าเกษตรได้รับการยอมรับในเวทีโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และมีความอุดมสมบูรณ์ต่างประเทศมีความสนใจในคุณภาพอาหารของไทยและเป็นความต้องการของตลาดโลก 

ดังนั้นจึงต้องทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้เครื่องมือเครื่องจักรและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าสนับสนุนปรับกระบวนการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการทำเกษตรอัจฉริยะ การทำเกษตรBCG ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร โดยในอนาคตจะมีมาตรการเพื่อการควบคุมสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรที่มีมาตรฐานรับรอง เพื่อการบริหารจัดการภาคการเกษตรอย่างครบวงจร นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสนับสนุนทั้งในกระบวนการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของตลาด

7F082529 DCB4 46F4 BC5B 1A5F859B8A14

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการได้พบปะกับสภาเกษตรกรในหลาย ๆ ครั้งได้มีการหารือเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง โดยมีการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและผลักดันข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของสภาเกษตรกร รวมไปถึงการให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคง พร้อมทั้งการสร้างเกษตรสมัยใหม่โดยใช้เทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อสร้าง smart farming ให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้น มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดและมีความปลอดภัย โดยได้จัดให้มีองค์ความรู้ เงินทุน การวางระบบบริหารจัดการน้ำ การวางโครงสร้างระบบขนส่ง และระบบอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ต่าง ๆ ไว้เพื่อรองรับ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และได้ตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรประเภทผู้แทนเกษตรกรขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส ไม่มีการทุจริต เป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า การเลือกสมาชิกสภาฯ เพื่อเป็นผู้แทนของเกษตรกรกว่า 20 ล้านคน มีความสำคัญ เพราะจะเป็นบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่าน“สภาเกษตรกรแห่งชาติ” มีการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเป็นระบบในการเสนอข้อคิดเห็นและนโยบายการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่องค์การเกษตรกร ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งยังเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนปัญหาให้ภาครัฐและร่วมมือกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็นซึ่งจะช่วยให้การทำงานของรัฐบาลสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น

28A74065 D7A5 4DC7 AB46 572A50A11D7F

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า การเตรียมการเพื่อเลือกตั้งสภาเกษตรกรฯ เป็นโอกาสดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อาสาจะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานเพื่อเกษตรกรทุกคน และหวังว่าการเลือกตั้งสภาเกษตรกร “โดยเกษตรกร ของเกษตรกร เพื่อเกษตรกร” จะทำให้ได้สมาชิกสภาที่มีความตั้งใจทุ่มเททำงาน และพร้อมเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรกว่า 20 ล้านคนอย่างแท้จริง พร้อมขอให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการการเกษตรด้านต่าง ๆ เช่น การผลักดันกฎหมายเพื่อเกษตรกรไทย โดยการปลดล็อคไม้ป่า 58 ชนิด การใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 การเสนอพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 นิทรรศการการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรไทย-จีน ที่เป็นโอกาสในการส่งเสริมการส่งออก การพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนทั้งในและต่างประเทศการขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืน เช่น โครงการเพิ่มมูลค่าฟางข้าวด้วยนวัตกรรมการผลิตแผ่นเยื่อฟางข้าว เพื่อช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน เป็นต้น