ดอกทุเรียนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เกสรตัวเมียอยู่ตรงกลางรายล้อมด้วยเกสรตัวผู้ เมื่อถึงเวลาบ่าย ๆ เกสรตัวเมียจะโผล่ยาวพ้นดอกออกมาก่อนและพร้อมรับการผสม แต่อับละอองเกสรตัวผู้จะแตกและปลดปล่อยละอองเกสรออกมาประมาณ 1 ทุ่ม ในการที่จะเกิดผลของทุเรียนประกอบด้วย 2 กระบวนการ
1.กระบวนการถ่ายละอองเกสร คือการที่ละอองเกสรตัวผู้มาตกลงบนปลายยอดเกสรตัวเมียละอองเกสรตัวผู้มีลักษณะเหนียวปลิวลมยาก การถ่ายเทละอองเกสรต้องอาศัยแมลงกลางคืนและค้างคาว
2.กระบวนการปฎิสนธิ เมื่อละอองเกสรตัวผู้มาตกลงบนปลายยอดเกสรตัวเมียแล้วก็จะงอกหลอดละอองเกสรไปตามก้านชูเกสรตัวเมียเข้าไปผสมกับไข่ที่อยู่ภายในรังไข่เกิดการปฎิสนธิขึ้นมา รังไข่จะพัฒนากลายเป็นผล ส่วนไข่จะพัฒนากลายเป็นเมล็ดเพื่อทำหน้าที่ขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศต่อไป ในรังไข่ทุเรียน มีไข่อยู่จำนวน 25 ใบ ดังนั้นถ้าทุเรียนผสมติด 100% ทุเรียนผลนั้นจะมี 25 เมล็ด
ทุเรียน เป็นพืชที่มีปัญหาการผสมตัวเอง มักจะผสมไม่ติด (Xenia effect )เป็นกลไกธรรมชาติที่ป้องกันพันธุ์อ่อนแอ แต่ถ้าใช้เกสรจากต่างต้นหรือต่างพันธุ์จะทำให้ผสมติดเมล็ดมาก พูเต็ม ผลใหญ่
ตำนานการผ่าดอกทุเรียน
ต้นตำรับการผ่าดอกทุเรียน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพืชสวน ดร.ทรงพล สมศรี เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วสมัยยังเป็นนักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ทำงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ทุเรียน ซึ่งเป็นที่มาของทุเรียนจันทบุรี1-จันทบุรี10 ที่โด่งดังขณะนี้ การผสมเกสรทุเรียนเพื่อสร้างพันธุ์ลูกผสมใหม่จะต้องตัดละอองเกสรตัวผู้ออกก่อนแล้วคลุมดอกไว้เพื่อป้องกันการผสมตัวเองหรือจากดอกอื่นที่ไม่ต้องการ เมื่อถึงเวลากลางคืนจึงนำเกสรตัวผู้ที่เป็นคู่ผสมมาป้ายบนปลายยอดเกสรตัวเมียอย่างปราณีต ทำให้ผลนั้นมีรูปทรงสวยงาม เกษตรกรมาเห็นเข้าก็นำไปทำตามแล้วเรียกว่า “ผ่าดอก”
ข้อดีของการผ่าดอก
ทุเรียนติดผลแน่นอน ทรงสวย พูเต็ม ผลใหญ่
ข้อเสียของการผ่าดอก
เสียเวลา สิ้นเปลืองแรงงาน ทุเรียนติดเมล็ดมากทำให้แก่ช้า
“ผ่าดอก” เหมาะสำหรับต้นทุเรียนที่ออกดอกน้อยต้องการความชัวร์ในการติดผล ทำเล่นสนุก ๆ แต่ถ้ามีดอกเยอะแค่ช่วยผสมเกสรปัดดอกในตอนกลางคืนก็เพียงพอแล้ว
การติดผลของทุเรียน
ระยะนี้ดอกทุเรียนกำลังบาน หากจัดการไม่เหมาะสมดอกจะร่วง การติดผลของทุเรียนมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ระยะเวลาที่เหมาะสมของการถ่ายละอองเกสร ดอกทุเรียนจะเริ่มบานช่วงบ่าย ๆ เวลาประมาณ 1 ทุ่มจะบานเต็มที่อับละอองเกสรตัวผู้จะแตกออก ละอองเกสรทุเรียนจะถูกถ่ายเทด้วยแมลงกลางคืนและค้างคาว
2.ความมีชีวิตของละอองเกสรตัวผู้ ซึ่งเมื่อแตกออกจะมีชีวิตประมาณ 48 ชั่วโมงและจะตายเมื่อถูกน้ำหรืออากาศเย็นจัด
3.ธาตุอาหารที่เกี่ยวข้องกับการงอกของละอองเกสรที่สำคัญคือแคลเซี่ยมและโบรอน
4.จำนวนละอองเกสรที่ตกบนปลายยอดเกสรตัวเมีย ยิ่งมีจำนวนละอองเกสรมาตกมาก ยิ่งทำให้มีโอกาสการผสมติดมากดังนั้นจึงควรช่วยทำการผสมเกสรทุเรียนตอนกลางคืนด้วยการใช้แปรงขนอ่อนหรือดอกไม้กวาดปัดดอก
5.ควรใช้เกสรตัวผู้จากต่างต้นหรือต่างพันธุ์ จะผสมเกสรได้ดีกว่าการใช้เกสรตัวผู้ในดอกหรือต้นเดียวกัน
6.การแข่งขันกันระหว่างดอก เกิดการแย่งอาหารทำให้อาหารไม่พอเลี้ยง ดอกร่วง หากมีดอกต่างรุ่นยิ่งแข่งขันกันมากจึงควรตัดแต่งดอกให้เป็นรุ่นเดียวกัน และเหลือดอกในปริมาณที่เหมาะสม และจำให้ขึ้นใจว่า ไว้ดอกเผื่อร่วง จะร่วงมาก
7.มีการจัดการน้ำที่เหมาะสม
น้ำกับการติดผลของทุเรียน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดผลของทุเรียน อีกอันหนึ่ง ก็คือ การจัดการน้ำที่เหมาะสม หลายคนสงสัยว่าที่เหมาะสมคืออย่างไร ต้องบอกว่าแต่ละสวน แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ทั้งสภาพพื้นที่ ชนิดดิน ระบบการให้น้ำฯลฯ การที่จะบอกเป็นปริมาณน้ำจึงทำไม่ได้ เราต้องสังเกตจากอาการของพืชที่แสดงออกมา
ในช่วงทุเรียนดอกบาน เราควรลดปริมาณน้ำลงเล็กน้อยเหลือ 2 ใน 3 ของการให้ปกติเพื่อทำให้น้ำหวานเหนียว ๆ ที่ปลายยอดเกสรตัวเมียมีความเข้มข้นขึ้น การงอกของละอองเกสรตัวผู้ก็จะดีขึ้นด้วย
อาการของดอกทุเรียนที่ตอบสนองต่อน้ำ
น้ำพอดี ดอกเริ่มบานประมาณบ่ายโมง เกสรตัวเมียโผล่พ้นดอก เวลาประมาณ 1 ทุ่มเริ่มบานเต็มที่ทิ้งตัวลงไม่ห่างจากเกสรตัวเมียมาก รุ่งเช้าเกสรตัวผู้และหม้อตาลยังคงติดอยู่ที่ดอก เมื่อเด็ดก้านดอกมาจับปลาย 2 ด้าน งอเข้าหากันเป็นรูปตัวUแล้วจะหัก การให้น้ำพอดีจะทำให้การงอกของละอองเกสรและการปฎิสนธิของทุเรียนดีกว่าน้ำมากหรือน้อยเกินไป
น้ำมากเกินไป ก้านดอกจะกางออก เกสรตัวผู้งอห่างจากเกสรตัวเมีย เกสรตัวผู้และหม้อตาลหลุดร่วงเร็ว เมื่องอก้านดอกจะงอได้เพียงเล็กน้อยก็จะเปราะหักง่าย
น้ำน้อยเกินไป ก้านดอกเหี่ยวเป็นร่อง ดอกบานช้า ดอกกอดกันเป็นกระจุก เกสรตัวผู้และหม้อตาลไม่หลุดร่วงง่าย เมื่องอก้านดอกจนปลาย 2 ด้านชนกัน ก็ยังไม่หักเพราะก้านดอกเหี่ยวเหนียว
ช่วงดอกบานเมื่อลดน้ำลงแล้วเราจะขึ้นน้ำตามปกติเมื่อหางแย้หรือก้านชูเกสรตัวเมียไหม้เป็นสีน้ำตาลไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง นั่นแสดงว่าการปฎิสนธิเสร็จสิ้นสมบูรณ์ รังไข่จะพัฒนากลายเป็นผลต่อไป
ที่มา- สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6