เมื่อ”สตรอว์เบอร์รี” เข้ามาเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านแก่นมะกรูด

ก่อนปี 2556 ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปมากนัก เช่นเดียวกับ อำนาจ สนจันทร์ และ ไพลิน องค์พระ เกษตรกรสองสามีภรรยาที่ยังไม่รู้ว่าหลังเก็บเกี่ยวข้าวไร่และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขาย รายได้จะพอหักลบกลบหนี้กว่าแสนบาทที่มีได้อย่างไร เว้นแต่ที่ดิน 3-4 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกตกทอด ก็มีเพียงรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากการรับจ้างรายวันที่พอประทังสี่ปากท้องในครอบครัว

316101941 5762898860415954 6754527376412174501 n 1
สตรอว์เบอร์รี

หลังการเข้าดำเนิน “โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต. แก่นมะกรูด อ. บ้านไร่ จ. อุทัยธานี ตามแนวพระราชดำริ” โดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ และหน่วยงานราชการ ในจังหวัดอุทัยธานี ในปี 2556 อำนาจและไพลิน สองสามีภรรยาพร้อมเพื่อนบ้านรวม 36 ราย ตัดสินใจเข้าร่วมรับการสนับสนุนต้นกล้าพันธุ์สตรอว์เบอร์รี (พระราชทาน 80) ทดแทนการทำพืชไร่เชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ถัดมาในปี 2557 เพียงปีแรกผลผลิตสตรอว์เบอร์รีรวม 4,000 กิโลกรัม จากพื้นที่เพาะปลูกรวม 24 ไร่ ก็ได้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 36 ราย ที่ร่วมรับการสนับสนุนกล้าพันธุ์และองค์ความรู้จากสถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ และภาคีหน่วยงาน รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท หรือเฉลี่ย 70,588 บาท/ไร่ ทั้งยังส่งให้ ‘แก่นมะกรูด’ ตำบลชายขอบป่าห้วยขาแข้งฯ แห่งนี้ เริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อดินแดน “หนาวสุดกลางสยาม ดอกไม้งามกลางขุนเขา” โดยมีสตรอว์เบอร์รีผลสีแดงสด วิถีและวัฒนธรรมพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงท่ามกลางสภาพอากาศเย็นสบายเป็นอีกหนึ่งสื่อกลางความประทับใจ

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ไร่ ๙ แก่นมะกรูด” แหล่งผลิต “ไหล” สตรอว์เบอร์รีของสองสามีภรรยาในปัจจุบัน อำนาจ ย้อนเล่าถึงที่มาของ “ไร่ ๙ แก่นมะกรูด” ว่า หลังจากเข้าร่วมรับการสนับสนุนกล้าพันธุ์และองค์ความรู้ในการปลูกสตรอว์เบอร์รีแล้ว แวบหนึ่งของความคิด เขาเกิดสงสัยว่า หากปีต่อไปไม่ได้รับการสนับสนุนอีก จะทำอย่างไร บวกกับเหตุการณ์ในช่วงที่สตรอว์เบอร์รีเริ่มให้ผลผลิต มีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาแจ้งว่าต้องการต้นสตรอว์เบอร์รีกลับบ้านไปเป็นของฝาก

“เมื่อก่อนผมปลูกลงแปลง ไม่ได้เพาะใส่ถุงเหมือนเดี๋ยวนี้ พอนักท่องเที่ยวมาเห็น เขาอยากได้ต้นก็บังคับให้ผมไปขุด บอกเท่าไหร่ก็จะซื้อ ห้าสิบ หนึ่งร้อย สองร้อยก็จะซื้อ ผมก็เสียดาย ปีต่อมาถึงได้คิดหาวิธีต่อ”ไหล” เอง ลองผิดลองถูกอยู่ 3 ปี ถึงเริ่มทำได้ ฤดูต่อมาหลังจากต่อไหลได้เอง ผมก็เริ่มลองเพาะไหลมาขาย ลองก่อน 500 ถุง ปรากฎว่าไม่พอขาย คนที่อยากได้ พอผมบอกว่าหมดก็โกรธผมอีก ปีต่อมาก็เพิ่มเป็น 1 พัน 3 พันก็ไม่พอขายตอนนี้ผมก็เลยเพาะ “ไหล” อย่างเดียว 10,000 ถุง ลูก (ผล) ก็ถือเป็นผลพลอยได้ไป”

สำหรับ สตรอว์เบอร์รี (อังกฤษ: strawberry) เป็นสกุลไม้ดอกในวงศ์กุหลาบ ผลสามารถรับประทานได้ ในอดีตปลูกเป็นพืชคลุมดินให้กับต้นไม้ปลูกเลี้ยงอื่น มีมากกว่า 20 สปีชีส์ และมีลูกผสมมากมาย แต่สตรอว์เบอร์รีที่นิยมปลูกมากในปัจจุบันก็คือสตรอว์เบอร์รีสวน ผลของสตรอว์เบอร์รีมีรสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีตั้งแต่รสหวานจนถึงเปรี้ยว สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญ มีปลูกกันเป็นวงกว้างหลายสภาพอากาศทั่วโลก

สตรอว์เบอร์รี เป็นพืชล้มลุก แตกกิ่งก้านแผ่ปกคลุมดิน ใบจะรวมกันอยู่ 3 ใบใน 1 ก้าน ขอบใบมีรอยหยัก มีดอกสีขาว ผลมีก้านยาวเชื่อมกับต้น มีเสี้ยนเล็ก ๆ บาง ๆ กระจายอยู่ทั่วผล มีกลีบเลี้ยงบนขั้วของผล เมื่ออ่อนมีสีขาว เหลือง เมื่อสุกจะเป็นสีส้มหรือแดง รสชาติอมเปรี้ยวถึงหวาน ขึ้นอยู่กับผลที่สุก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม


-พื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 800 เมตร

-พื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส (มีอากาศเย็นตลอดปี)

-พื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ เช่น ดินแบบทุ่งหญ้าแพรรี หรือดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์

ฤดูกาล

-เริ่มปลูกในช่วงเดือนปลายสิงหาคม ถึง ปลายตุลาคม

-เริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนเมษายนของปีถัดไป

พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย

-พันธุ์พระราชทาน 16

-พันธุ์พระราชทาน 20

-พันธุ์พระราชทาน 50 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมในประเทศสหรัฐอเมริกา และนำเข้ามาคัดเลือกโดยการผสมตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพอากาศเย็นปานกลาง ทรงพุ่มปานกลางถึงค่อนข้างแน่น ผลผลิตมีคุณภาพดีโดยเฉพาะใกล้สุกเต็มที่ น้ำหนักต่อผล 12 -18 กรัม รูปร่างเป็นลิ่มสีแดงถึงสีแดงเข้มค่อนข้างแข็ง ไม่ต้านทานต่อไร แต่ต้านทานราแป้งได้ดี

-พันธุ์พระราชทาน 70 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ใบมีลักษณะกลมใหญ่ และสีเขียวเข้มไม่ทนต่อราแป้ง แต่ทนต่อโรคเหี่ยว ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง น้ำหนักต่อผล 11.5 – 13.0 กรัม ผลมีลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอม มีความฉ่ำและรสชาติหวาน เปอร์เซ็นต์ความหวาน 9.6° Brix

-พันธุ์พระราชทาน 72 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก) เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ TOCHIOTOME ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 น้ำหนักต่อผล 14 กรัม เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่มีความหวานน้อยกว่าคือ 9.3° Brix มีกลิ่นหอมเมื่อเริ่มสุก เนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิวผล ทนต่อการขนส่งมากกว่าพันธุ์อื่น

-พันธุ์พระราชทาน 80 (เป็นพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้ปลูก ตั้งแต่ปีพ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา) เป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ Royal Queen

-พันธุ์ 329 (Yale) เป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูก เป็นพันธุ์ที่มาจากประเทศอิสราเอล