ทีมเล็บเหยี่ยวรื้อตรวจคัดกรองทุเรียน 7 ตันในล้ง อ.มะขาม จ.จันทบุรีใหม่ทั้งหมด หลังตรวจก่อนปิดตู้ เจอทุเรียนอ่อน 5 ตัวอย่าง พบเป็น”ล้งสีแดง”ที่ถูกขึ้นบัญชีไว้
19.30 น.ทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร พร้อมฝ่ายปกครอง อ.มะขาม และจนท.เกษตรจังหวัดจันทบุรี ประสานเจ้าของล้ง ที่ตั้งใน อ.มะขาม จ.จันทบุรี ให้คนงานของล้งคัดแยกทุเรียนด้อยคุณภาพ(อ่อน)ออกมา หลังสุ่มตรวจ 5 ตัวอย่างของทุเรียนพันธ์หมอนทอง จากการคัดแยก 5 ครั้ง ปรากฏว่า พบทุเรียนด้อยคุณภาพ(อ่อน)ทั้งหมด คือ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งร้อยละ 25 / 25 / 26 / 27 และ 28 จากที่กำหนดไว้ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 จึงให้คัดใหม่เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย
แต่ระหว่างที่ตรวจสอบตัวอย่างแต่ละครั้ง และให้คัดแยก ปรากฏว่า คนคัดของล้ง ไม่พอใจเจ้าหน้าที่และออกอาการอิดออด ไม่ยอมคัด ถ่วงเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจตั้งแต่เวลา 11.00 น. กระทั่งมาถึงเวลา19.30 น. จนท.จึงประสานนาย ธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตร จ.จันทบุรี ร่วมตรวจสอบ และเปิดโอกาสเป็นครั้งสุดท้ายในการคัด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการตรวจมีผู้หญิง 1 คน เดินไปพูดตรงที่เจ้าหน้าที่ผ่าทุเรียนตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งว่า ไม่น่าเชื่อผลตรวจ เพราะสีทุเรียนได้ แต่ไม่ผ่านการตรวจ และเดินไปหยิบทุเรียนที่ผ่าไว้แล้ว(ชะนี)สีเหลือง ไปวางหน้าผลตรวจทุเรียน 5 ลูก พร้อมถ่ายรูปออกไป
ต่อมาเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบที่มาของทุเรียนและใบ GAP แต่ทางล้ง แจ้งว่า ตัดมาจากสวนใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ทั้งหมด แต่ที่น่าตกใจ คือ DOA ขั้วทุเรียนที่ติดอยู่ในผลของทุเรียนทั้งหมด เป็นของโรงคัดบรรจุซึ่งตั้งอยู่ที่ล้งในเขต ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ เจ้าหน้าที่สวพ.6 จึงแจ้งให้นำสติ๊กเกอร์ DOA ออกจากผลทุเรียนทั้งหมด แล้วให้ใช้สติ๊กเกอร์ DOA ของตัวเองตามที่ขออนุญาต พร้อมประสานไปยังด่านตรวจพืชฯ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า หากล้งนี้ใช้สติ๊กเกอร์ DOA ของล้งอื่น จะไม่ปล่อยผ่าน เพราะจะเกิดผลเสียหายโดยรวม
โดยทุเรียนทั้งหมดในล้ง มีประมาณ 6-7 ตัน เตรียมบรรจุส่งออกให้นายทุนใหญ่ต่างชาติที่มาตั้งล้งอยู่ในไทย ใกล้กับล้งที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และมีรายงานด้วยว่า ล้งที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจอยู่ในกลุ่มสีแดง จากการจัดอันดับล้ง 3 สี คือ แดง เหลือง เขียว โดยล้งสีแดง คือ ล้งที่ค้าทุเรียนอ่อน ตรวจกี่ครั้งก็เจอ
สำหรับการตรวจสอบล้ง แม้คำสั่งจังหวัดจะสิ้นสุดลง แต่ทีมเล็บเหยี่ยว จะตรวจสอบล้งที่อยู่ในเกณฑ์สีแดง และสีเหลือง ก่อนส่งทุเรียนไปยังต่างประเทศ เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทย
ขอบคุณข้อมูล : เสก บูรพา