วันนี้(11 เม.ย. 65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (11 เม.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 46,433 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 22,494 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 19,991 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 90 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,885 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,189 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,527 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 97 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในช่วงวันที่ 19-20 เม.ย. 65 นี้ จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน จึงได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 45 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นอัตรา 60 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งเเต่วันที่ 10 เม.ย.65 เวลา 16.00 น. ไปจนถึงวันที่ 18 เม.ย.65 เวลา 06.00 น.หลังจากนั้นจะปรับลดการระบายน้ำให้เหลือ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมปรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกจากอัตรา 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็นอัตรา 30 ลบ.ม.ต่อวินาที ในช่วงวันที่ 11 เม.ย.65 เวลา 06.00 น.ไปจนถึงวันที่ 17 เม.ย.65 เวลา 06.00 น. หลังจากนั้นลดปริมาณน้ำไหลผ่านเหลือ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนจะลดลงในทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพื้นที่ รวมทั้งจัดระบบการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างให้พร้อมส่งน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เป็นต้นไป และได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ พร้อมทั้งให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ส่วนวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ประธานในที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังสถานการน้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป