วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ผู้เสียหายรวม 12 ราย นำโดยนางสาวเกวลิน อายุ 33 ปี รวมตัวกันเข้าแจ้งความที่ สภ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ให้เอาผิดนางสาว ชัชวาล อายุ 40 ปี ตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขมราฐ
ฐานปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ ลงนามโดยนายอำเภอและรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีอ้างโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยมีการขอเบิกเงินในการดำเนินการล่วงหน้า 4,480,434 บาท
แต่ภายหลังยอมรับว่า ทำเอกสารทางราชการปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงจริง และไม่มีการชดใช้เงินคืนโดยผู้เสียหายบางรายได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากมีหนี้สินติดตัวจากการถูกหลอกในครั้งนี้
จากการสอบสวนผู้เสียหาย ให้การว่า ได้รับการติดต่อจากนางสาวชัชวาล โดยได้นำหนังสือราชการเรื่องโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาโมเดล” กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลงนามโดย นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
หนังสือระบุว่า จังหวัดได้แจ้งอนุมัติโครงการดังกล่าว ประจำปี 2565(งบเหลือจ่าย) โดยให้อำเภอเขมราฐดำเนินการตามโครงการจำนวน 100 แปลง ประกอบด้วย จำนวน 3 ไร่ 100 แปลงๆ ละ 104,000 บาท(หนึ่งแสนสี่พันบาทถ้วน) รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 10,400,000 บาท (สิบล้านสี่แสนบาทถ้วน) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 และขอให้อำเภอดำเนินการพร้อมนำส่งเงินประกันสัญญาให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวันที่ 3 ตุลาคม2565
นอกจากนี้ยังได้นำหนังสือเรื่องโครงการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ลงนามโดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (ZEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และ SME พัฒนาคนโดยแจ้งอนุมัติงบประมาณให้อำเภอดำเนินการ
โดยให้มีการขุดปรับพื้นที่แปลงต้นแบบ จำนวนทั้งสิ้น 160 แปลง ประกอบด้วย จำนวน 3 ไร่ 75 แปลงๆละ 104,000 บาท (หนึ่งแสนสี่พันบาทถ้วน) จำนวน 1 ไร่ 45 แปลงๆ ละ 45,200 บาท (สี่หมื่นห้าพันสองร้อยบาทถ้วน) โดยจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เดือนมิถุนายน 2566 และหากอำเภอมีความประสงค์ดำเนินการขุดปรับพื้นที่ ขอให้แจ้งจังหวัดพร้อมนำส่งเงินประกันสัญญาให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวันที่ 21 กันยายน 2565
ผู้เสียหาย เล่าว่า นางสาวชัชวาลได้เรียกไปทำสัญญาพร้อมเรียกเก็บเงิน อ้างว่าเป็นเงินประกันงาน ค้ำประกันงาน 5% ซึ่งผู้รับเหมาก็ไปจ่ายเงินให้ที่สำนักงานพัฒนาการอำเภอเขมราฐ ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี มีสลิปการโอนเงิน แต่มาทราบภายหลังว่าถูกหลอก ตอนนี้เท่าที่ทราบมีผู้รับเหมาประมาณ 12 รายสูญเงินแล้ว 4,480,434 บาท นอกจากนี้ยังมีผู้รับเหมารายอื่นที่ยังไม่ได้มาแสดงตัวว่าถูกหลอก คาดว่าความเสียหายน่าจะถึง 10 ล้านบาท
หลังจากที่รู้ว่าถูกหลอก ทางผู้รับเหมาไปติดต่อทวงถามขอเงินคืน ทางเจ้าตัวก็ยอมรับผิด และรับว่าได้ปลอมแปลงเอกสารลงชื่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 ท่านขึ้นมาเอง ส่วนเงินที่หลอกไปก็หามาคืนไม่ได้จึงรวมตัวกันมาแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
ด้านนายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ กล่าวว่า นายอำเภอเอง ก็เป็นคนที่เสียหายด้วย เพราะถูกปลอมแปลงเอกสารด้วยเหมือนกัน และได้ไปแจ้งความนางสาวชัชวาล ไว้ที่ สภ.เขมราฐ ในข้อหาปลอมแปลงลายมือชื่อเอกสารทางราชการไว้แล้ว เบื้องต้นทางจังหวัดโดยสำนักงานพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีคำสั่งให้นางสาวชัชวาลย้ายไปช่วยราชการที่กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนสำนักงานพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว
พ.ต.อ.ชัยกฤต โชติวรรณ ผกก.สภ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความไว้ในคดีฉ้อโกง และข้อหาปลอมแปลงลายมือชื่อเอกสารทางราชการ โดยหากพบความผิดอื่นอีกจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือเอกสารปลอมที่นางสาวชัชวาล เหนือโชติ ปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้รับเหมาซึ่งลงนามโดยนายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ได้มีการแจ้งความในเรื่องการปลอมแปลงเอกสารที่ สภ.เมืองอุบลราชธานีไว้แล้ว ส่วนหนังสือที่ปลอมแปลงลงนามโดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นั้นปัจจุบันได้ย้ายไปเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 หนังสือที่ถูกปลอมแปลงลงวันที่ 20 กันยายน 2565