วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประเด็นโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวปี 4 ว่า ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะเข้า ครม.วันพรุ่งนี้ (15 พ.ย. ) ตนได้ลงนามเอกสารเข้า ครม.ไปแล้ว จะมีทั้ง 3 ส่วนคือ 1.ส่วนต่างที่จะจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2.มาตรการคู่ขนานเพื่อช่วยให้โรงสีและชาวนาเก็บข้าวไว้ในยามที่ข้าวออกสู่ตลาดมาก เพื่อไม่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำและมีเงินช่วยให้เก็บสต๊อกข้าวไว้ทั้งโรงสีและชาวนาเป็นต้น และ 3.ไร่ละ 1,000 จะเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้เป็นวงเงินงบประมาณ 82,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินส่วนต่าง 18,700 ล้านบาท มาตรการคู่ขนานประมาณ 8,000 ล้านบาท และไร่ละ 1,000 ประมาณ 55,000 ล้านบาท วันพรุ่งนี้ ครม.จะพิจารณา
“เห็นใจเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพราะทวงถามกันมาระยะเวลาพอสมควรแล้ว ขณะนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วทั้งในส่วนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ได้มีการลดวงเงินลงมาแต่ปัจจุบันสถานการณ์ราคาข้าวดีขึ้นมาก ข้าวเปลือกเจ้า มาตรฐานความชื้นไม่เกิน 15% ราคา 9,000 กว่าบาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ ราคาเกินรายได้ที่ประกันแล้ว ราคาประมาณ 15,000-16,000 บาทโดยเฉลี่ย และข้าวหอมนอกพื้นที่เช่นเดียวกัน มีบางตัวเท่านั้นที่จะต้องชดเชยหรือจ่ายส่วนต่าง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเดิมที “คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)” ได้เคาะงบประมาณสำหรับโครงการประกันรายได้ข้าวเอาไว้ราว ๆ 1.5 แสนล้านบาท สำหรับการจ่ายชดเชยส่วนต่าง เงินสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ และเงินที่ใช้ในมาตรการเสริม เพื่อดึงราคาข้าว
แต่พอวงเงินสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท ก็ “ติดปัญหา” ตามมาตรา 28 แห่ง “พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561” ที่ปริ่ม ๆ จะเกิน “เพดานหนี้” ที่กำหนดไว้ห้ามเกิน 30% หลังจากที่ “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ได้เคยอนุมัติให้ขยายเพดานหนี้จาก 30% เป็น 35% มาแล้ว 1 ปี สำหรับปีงบประมาณ 2565
เพราะฉะนั้น ถ้ายังขืน “ตั้งวงเงินไว้สูง” อาจจะเกิดปัญหา “ซ้ำรอยเดิม” อีกก็เป็นได้
ต่อมากระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกัน และได้ “ข้อสรุป” ว่า จะปรับลด “งบประมาณ” สำหรับใช้ในโครงการลงมา สาเหตุที่ปรับลดลงได้ เพราะข้าวหลายชนิดราคาสูงขึ้นมาก เช่น
ข้าวเปลือกเจ้า ปัจจุบันตันละ 9,200-9,400 บาท ใกล้เคียงกับราคาประกันที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,500-16,000 บาท สูงกว่าราคาประกันตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมปทุมธานี 11,000-11,500 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาประกันตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 11,000-12,200 บาทต่อตัน ใกล้เคียงกับราคาประกันตันละ 12,000 บาททำให้ “แนวโน้ม” การจ่ายชดเชยรายได้ “ลดลง” หรือ “ไม่ต้องจ่าย” เลย
ส่วน “โครงการช่วยเหลือต้นทุนและบริหารจัดการข้าว” ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท จำนวนประมาณ 4.68 ล้านครอบครัว เดิมของบไว้ 55,364 ล้านบาท ลดเหลือประมาณ 40,000 ล้านบาท
โดยส่วนที่ “ขาดไป 15,000 ล้านบาท” จะนำเงินจาก “โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว” ของกรมการข้าว ที่ได้รับงบประมาณประจำปี 2566 วงเงิน 15,000 ล้านบาทมาเติม เพราะถือเป็นโครงการที่มีความคล้ายคลึงกัน
ขณะที่วงเงินสำหรับ “มาตรการคู่ขนาน 7,107 ล้านบาท” ยังคงเดิม เช่น โครงการจำนำยุ้งฉางให้ชาวนาชะลอการขาย เงินกู้ให้สถาบันเกษตรกรที่ชะลอการขายข้าว และช่วยโรงสีที่เก็บข้าวไว้ไม่ปล่อยออกสู่ตลาด