นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ รับฟังรายงานจากองค์กรเครือข่ายผู้เลี้ยง “ควายปลัก” (ควายน้ำ) แห่งทะเลน้อยที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทย จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
จากนั้น เดินทางไปมอบถุงยังชีพปศุสัตว์และหญ้าแห้งพระราชทาน จำนวน 4 ตัน ให้กับตัวแทนเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงควายทะเลน้อย และพบปะรับฟังปัญหา และให้กำลังใจแก่กลุ่มสหกรณ์จังหวัดพัทลุง
“ยินดีกับพี่น้องชาวพัทลุง ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อยได้รับประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ จึงขอให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ควายปลักให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคน สัตว์ และป่า ต้องอยู่ร่วมกันได้และใช้ประโยชน์ในถิ่นที่อยู่อาศัย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ทะเลน้อยถือเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันรักษา ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้การสนับสนุน และบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว
ทั้งนี้ เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหัวป่าเขียว จํากัด กลุ่มองค์กรเครือข่าย และประชาชน จํานวน ประมาณ 300 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ป่าชื้นเขตอนุรักษ์ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เนื้อที่ประมาณ 280,000 ไร่ และมีพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถเลี้ยงปศุสัตว์ได้ 17,500 ไร่ ทําให้เกิดวิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ)ปัจจุบันมีประมาณ 4,400 ตัว ควายจะมีการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดทําให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำท่วมแหล่งพืชอาหารสัตว์ที่ควายหากินทุกปีในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน จะประสบปัญหาขาดแคลนทําให้ควายตายปีละ 100-200 ตัวทุกปี
ในปี 2560 เป็นต้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสําคัญของวิถีวัฒนนธรรมดังกล่าวนี้ได้ประสาน ขอขึ้นทะเบียน “ควายปลัก” (ควายน้ำ) แห่งทะเลน้อย เป็นมรดกโลกทางการเกษตร (GIAHS) ของไทยจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทางคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่จริงในการขอรับรอง ระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2565 และได้รับรองขึ้นทะเบียนควายปลัก หรือควายน้ำทะเลน้อย ซึ่งเป็นปศุสัตว์ชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกเกษตรโลก สำหรับในด้านการตลาดสหกรณ์ฯ ร่วมกับพันธมิตรเครือข่าย และเกษตรกรสามารถขายควายไปยังประเทศมาเลเชีย หรือการบริโภคในท้องถิ่น ราคาเฉลี่ยตัวละ 40,000-50,000 บาทสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 50,000 – 100,000 บาทต่อครัวเรือน ถือเป็นอาชีพหลักที่สําคัญ โดยสหกรณ์ จะไปสนับสนุนด้านเงินทุนในการจัดหาพันธุ์วัตถุอาหารเป็นสําคัญ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) ได้รับแจ้งจากนาย Yoshihide ENDO ฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตรว่า ข้อเสนอโครงการการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO และได้ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และนับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย
สำหรับพื้นที่ในระบบมรดกทางการเกษตรโลก หมายถึง พื้นที่ที่มีความโดดเด่นในการจัดการใช้ที่ดินและภูมิทัศน์ ในพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนมีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย FAO กำหนดองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกพื้นที่ ดังนี้
1.เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ โดยระบบมรดกทางการเกษตรโลกที่นำเสนอควรสนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารและการหาเลี้ยงชีพของชุมชนในท้องถิ่น แสดงถึงการทำมาหากินหลัก ซึ่งรวมถึงการจัดหาและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างระบบการหาเลี้ยงชีพและอาหารแบบยั่งยืน
2.มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทางการเกษตรและทรัพยากรพันธุกรรมเพื่ออาหารและการเกษตร (พรรณ/ความหลากหลาย/สายพันธุ์ของพืชหรือสัตว์เฉพาะถิ่น/หายาก/ใกล้สูญพันธุ์)
3.มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ
4.มีระบบวัฒนธรรมทางการเกษตร ที่เป็นค่านิยม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ พิธีกรรม เทศกาลและปฏิทินทางการเกษตร และโครงสร้างทางสังคม