ข่าวคราวการโยกย้าย ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 เข้า กทม.ได้รับความสนใจราว 2 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มเงียบไป แต่การโยกย้าย ชลธี ออกจากพื้นที่ จนทำให้เจ้าตัวตัดสินใจยื่นใบลาออกจากชีวิตราชการคงจะทำให้คนบางกลุ่มกำจัดเสี้ยนหนามในวงการผลไม้ออกจากวงจรได้บ้าง
ทว่า ฤดูกาลทุเรียนปีที่ผ่านมา(2564) ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 ในฐานะหัวหอกทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย และผู้ร่วมอุดมการณ์ทีมเล็บเหยี่ยวฯ สร้างความเจ็บช้ำ และเจ็บแค้นใจให้ขบวนการค้าทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพไม่น้อย เพราะทีมเล็บเหยี่ยตรวจทุกล้ง ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ที่ทาง จ.จันทบุรีออกประกาศควบคุมคุณภาพทุเรียนส่องออก โดยนำเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งมาควบคุม ถึงขนาดที่ว่าคนค้าทุเรียน(บางกลุ่ม) ถึงกับบ่นออกปาก เพราะปี 64 การส่งออกทุเรียนอ่อนไปปลายทาง ทำไม่ได้สะดวกนักเพราะถูกกวดขันอย่างหนัก
รวมถึงสายข่าวเฝ้าระวังทุเรียนอ่อนในพื้นที่ภาคตะวันออก ชลธี นุ่มหนู วางเครือข่ายไว้ถึงต้นสวน มือมีดกลุ่มใหนตัด ล้งใหนสั่ง ชลธี รู้หมด และตามถึงล้งต้นตอ ทำให้ทุเรียนอ่อนที่ตัดมา 13 ลำ (คันรถ) เมื่อปีที่แล้ว(2564) ไม่กล้านำทุเรียนเข้าล้ง เพราะจะเดือดร้อน ตั้งแต่เจ้าของสวน คนตัด รถขน และล้งที่รับซื้อ
ทั้งหมด ทั้งมวลนี้ แค่เพียงเหตุผลที่งยังไม่ทั้งหมด จากวงการทุเรียน ผลไม้มูลค่ามหาศาล ที่มีกลุ่มทุนต่างชาติ เงินหนา เป็นทุนใหญ่
ข้อมูลจากผู้ค้าทุเรียนส่งออก ระบุว่า กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาทำทุเรียนจากไทยส่งออกไปต่างประเทศ มีทั้งหมด 5 กลุ่ม ภายใต้ตัวย่อ คือ
กลุ่มแรก “HJ” และมีชื่อไทยด้วย
กลุ่มสอง “THK”
กลุ่มสาม “YK”
กลุ่มสี่ “HZ”
กลุ่ม 5 “K”
และมีกลุ่มที่ 6 ที่พยายามผงาดขึ้นมาเทียบแต่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่ คือ “TFH”
โดย 5 กลุ่มแรก เป็นทุนต่างชาติ เงินหนา ใจถึง สายสัมพันธ์แน่นทั้งการเมือง(บางกลุ่ม) ข้าราชการ(บางกลุ่ม) และกลุ่มคนไทยที่ร่วมทำธุรกิจด้วย
5 กลุ่มทุนนี้ร่วมมือกับคนไทย ดำเนินการจัดหาทุเรียนและผลไม้อื่น ที่ประเทศปลายทางต้องการ แต่ที่เน้นมากคือ ทุเรียน เพราะประชากรที่ประเทศปลายทางมีความต้องการบริโภคสูงมาก
วิธีการ 5 กลุ่มทุนต่างชาตินี้ คือ ประสานผ่านคนไทยจัดส่งทุเรียนไปปลายทาง โดยจะมีเออร์เดอร์สั่งมาและระบุวันที่จัดส่งต้องถึงปลายทาง การโอนเงินก็จะโอนเงินสดมาให้ก่อนตามราคาที่ตกลงกัน จากนั้นก็จะส่งของไปตามความต้องการภายใต้สัญญาที่ทำร่วมกัน
“กลุ่มทุนต่างชาติ 5 กลุ่มนี้ จะไม่ค่อยเดินทางเข้ามาในไทย เพราะเชื่อใจคนไทยที่ตกลงทำธุรกิจค้าขายกัน“ ผู้ค้าทุเรียนระหว่างประเทศ กล่าว
แต่ปีที่ผ่านมา ทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ภายใต้หัวหอกอย่าง ชลธี กวดขันจับกุม ผู้ค้าทุเรียนอ่อน – ทุเรียนสวมสิทธิ์ รวม 4 คดี(เฉพาะที่เป็นคดีความเพราะความผิดที่ตรวจพบเกินกว่าเกณฑ์ที่ทาง จ.จันทบุรีกำหนด คือ ทุเรียนอ่อนเกินร้อยละ 10 ของทุเรียนทั้งหมดจะถูกดำเนินคดี แต่หากไม่ถึงร้อยละ 10 ให้นำทุเรียนอ่อนที่ตรวจพบไปแปรรูปเท่านั้น)
นี่จึงทำให้กลุ่มทุนคนไทย(บางกลุ่ม)ที่เสียประโยชน์จากการปนทุเรียนอ่อนส่งออกไปทำไม่ได้เต็มที่เหมือนที่ผ่านมา และส่วนต่างรายได้จากการค้าทุเรียนอ่อนที่เคยได้ ก็หายไปเกือบร้อยละ 70
แต่ในทางกลับกันความเข้มข้นในการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกจากประเทศไทย ภายใต้ทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย กลับทำให้ผู้บริโภคที่ประเทศปลายทางออกปากชม
“ไทยปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่หรือ ไม่เคยได้กินทุเรียนจากประเทศไทยอร่อยแบบนี้มาก่อน“ เพราะการนำคุณภาพการส่งออกมาเป็นเกณฑ์ในการส่งออก ทำให้ผู้บริโภคปลายทางชื่นชอบอย่างมาก
และสาเหตุนี้เอง ทำให้เมื่อปี 2564 ราคารับซื้อทุเรียนหน้าล้ง เกรด A ไม่ต่ำกว่า 100 บาท หากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆเมื่อถึงหน้าทุเรียน ช่วงต้นฤดูจะสูงลิ่วแต่เกือบ 200 บาท
แต่คล้อยหลังไม่ถึง 1 เดือน ราคาทุเรียนกลับร่วงไม่เป็นท่า เพราะผู้ค้าที่ประเทศปลายทาง อ้างว่า มีทุเรียนอ่อนปนเยอะมาก และนี่ก็เป็นหนึ่งกลไกที่พ่อค้า(บางคน)ใช้ในการทำลายราคาตลาดทุเรียนส่งออกเพื่อต้องการกดราคารับซื้อในฝั่งไทย
โปรดติดตอนต่อไป…EP :2
“เสก บูรพา”รายงาน