ลอยกระทงปีนี้…กรมประมงชวนเลือกใช้วัสดุย่อยสลายง่าย

ลอยกระทงปีนี้…กรมประมงชวนเลือกใช้วัสดุย่อยสลายง่ายเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน “ลดขยะ รักษ์โลก รักษ์สัตว์น้ำ”

“งานลอยกระทง”เป็นหนึ่งในประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย โดยในวันงานประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างออกมาร่วมลอยกระทงริมฝั่งของแม่น้ำและลำคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

314715837 210990201275489 5257195639627422533 n

อย่างไรก็ตาม การร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงนี้เราไม่อาจสามารถปฏิเสธได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวล้วนแต่เป็นการสร้างขยะที่ยากต่อการย่อยสลายปริมาณมากในวันถัดไป

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับวัสดุที่นำมาใช้ลอยกระทงกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ขายต้องพยายามคิดหารูปแบบกระทงเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า โดยเฉพาะการเลือกใช้วัสดุที่สัตว์น้ำบางชนิดสามารถกินได้ อาทิ ข้าวโพดย้อมสี ขนมปัง กรวยไอศครีม ถึงแม้แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่ดี แต่ไม่ควรเลือกสถานที่ที่เป็นแหล่งน้ำปิด อาทิ สระน้ำวัด สระน้ำสถาบันการศึกษา เพราะหากนำกระทงไปลอยในแหล่งน้ำไม่มีสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำกินไม่หมดก็จะเกิดการตกตะกอนหมักหมม ส่งผลทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียและอาจทำให้สัตว์น้ำตายได้อีกทั้งปลาที่จะกินอาหารเหล่านี้มีเพียงปลากินพืชเท่านั้น ดังนั้น หากต้องเลือกใช้กระทงเหล่านี้ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยควรเลือกแหล่งน้ำเปิดที่เหมาะสม

นอกจากนี้ กรณีเลือกกระทงควรเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ สามารถเก็บขึ้นไปกำจัดได้ทัน หลีกเลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก และโฟม และวัสดุที่หลากหลายเกินไปเพื่อลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 จะคลี่คลายลง แต่ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังฯ และประเพณีลอยกระทง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้มีการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ จึงขอแนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก อาจใช้การลอยกระทงในช่องทางออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาดดังกล่าว และในส่วนของครอบครัวอาจใช้กระทงร่วมกันเพียง 1 กระทง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวแล้วยังเป็นการช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย

อธิบดีกรมประมงฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอฝากถึงประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ขอให้เลือกใช้วัสดุทำกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กรณีต้องใช้สีในการตกแต่งกระทงควรใช้สีผสมอาหารไม่ใช้สีที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและแหล่งน้ำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยร่วมใจกันสืบสานประเพณีไทยด้วยความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูและสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย

ในเรื่อง “กระทง ” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า กระทงบางชนิดแม้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ แต่ถ้ามีจำนวนมากและไม่ได้เก็บให้หมด อาจตกค้างหลุดลอดลงทะเลและอยู่ในทะเล 2-3 สัปดาห์ เพราะฉะนั้น ลดจำนวนกระทง เช่น 1 ครอบครัวต่อ 1 กระทง

พยายามเก็บและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

นอกจากนี้ “กระทง ” ยังเป็นตัวนำวัสดุแปลกปลอมย่อยสลายไม่ได้ เช่น โฟม เหรียญ เศษพลาสติก ฯลฯ เมื่อลงไปตกค้างอยู่ในธรรมชาติ มีโอกาสที่สัตว์ทะเลจะกินเข้าไปสูง ควรหลีกเลี่ยงการลอยกระทงทุกแบบที่มีวัสดุไม่ย่อยสลายในธรรมชาติอยู่ในนั้น เช่น กระทงโฟม และไม่ควรใส่วัสดุ ไม่ย่อยสลายลงไปในกระทง เลือกกระทงที่เหมาะสม เช่น กระทงน้ำแข็ง/ดอกไม้ ไม่ต้องห่วงเรื่องความเย็นทำอันตรายสัตว์น้ำ เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองเยอะกว่ามาก

“กระทง”ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ บางครั้งอาจมีวัสดุเพื่อใช้กลัด/ติด ฯลฯ ซึ่งวัสดุเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลก่อนซื้อกระทงจึงควรสังเกตให้ดี ระวังวัสดุพวกนี้

แม้กระทงบางอย่างจะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ เช่น กาบกล้วย แต่วัสดุตกแต่งที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น ริบบิ้น แผ่นพลาสติกประดับ ฯลฯ คือขยะทะเล ส่งผลต่อระบบนิเวศและสัตว์หายาก ดังนั้นการลอยกระทงต้องทำอย่างเคารพต่อพระแม่คงคา สังเกตให้ดี หลีกเลี่ยงกระทงแฝงขยะทะเล