งานวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร สะดุดตาสะดุดใจกับการโชว์ความสำเร็จของกรมและหนึ่งในนั้นคือพืชเศรษฐกิจอย่างหอม-กระเทียม งานใหญ่แบบนี้ โชว์ทั้ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ. โชว์ทั้ง ที่ปรึกษาอลงกรณ์ พลบุตร แสดงว่ามีดีถึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ร่วมงาน
ทำไมกรมส่งเสริมการเกษตรถึงเลือกโชว์หอมกระเทียมลำพูน นี่เป็นโจทย์ เป็นคำถามในใจ แต่เมื่อเห็นรูปแบบ เห็นแพ็กเกจจิ้ง เห็นที่มาที่ไปแล้ว ถึงกับว๊าว นี่คือของดีเมืองลำพูนที่เกษตรลำพูนพร้อมใจมานำเสนอความสำเร็จจริงๆ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หอม-กระเทียมลำพูนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่กรมเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การดูแล การตลาด รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร
และสิ่งนี้ทำให้ “วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ปี 2565 รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น มาแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรถึงนำมาโชว์เพื่อเป็นตัวอย่างเป็นแรงกระตุ้นให้แนวคิดการทำงานการส่งเสริมไปสู่เกษตรกรให้ก้าวไกลมากกว่าเดิม
วันนี้…เรามาเรียนรู้เรื่องหอมกระเทียมลำพูนกันครับ
“หอมแดง” นิยมปลูกเพื่อทั้งบริโภคในครัวเรือนและเป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นเพื่อจำหน่ายและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะอำเภอบ้านโฮ่ง ที่เกษตรกรมีการปลูกหอมแดงเพื่อจำหน่ายกันเป็นอย่างมาก ซึ่งก่อนที่จะจัดจำหน่ายหอมแดงนั้น เกษตรกรก็จะเก็บเกี่ยวเมื่อหอมแดงแก่จัดที่อายุประมาณ 70-110 วัน ถ้าปลูกในช่วงฤดูหนาว แต่ถ้ามีการปลูกในช่วงฤดูฝนจะสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อหอมแดงมีอายุประมาณ 45 วัน
หลังการเก็บเกี่ยวจะมีการปฏิบัติคล้ายกระเทียม คือ หอมแดงที่ถูกถอนออกจากพื้นที่เพาะปลูกแล้วเกษตรกรจะนำมาผึ่งลมในที่ร่มเพื่อให้ลำต้นและใบเหี่ยวแห้ง จากนั้นก็ทำการมัดรวมเป็นกลุ่มเดียวกันโดยจะมีการคัดเลือกขนาดและคุณภาพของหอมแดง ถ้าไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ หอมแดงก็จะโดนคัดออกไปซึ่งจะกลายเป็นของเหลือทิ้งจากขั้นตอนนี้
จากนั้นหอมแดงที่มีคุณภาพจะถูกทำความสะอาด และคัดพันธุ์แล้วนำไปแขวนไว้ในที่ร่ม เช่น โรงเรือนหรือใต้ถุนบ้านที่มีลมพัดผ่านตลอดเวลาเพื่อระบายความชื้นจากหัว ใบและลำต้น ซึ่งต้องระวังไม่ให้ถูกแดด ฝนหรือน้ำค้าง เนื่องจากในหัวหอมมีความชื้นสูง ที่ปริมาณน้ำในหัวมากกว่าร้อยละ 85 ถ้าหากเก็บไว้ในอากาศร้อนชื้นจะเกิดโรคราสีดำและเน่าเสียหายได้
เกษตรกรทำการจัดจำหน่ายหอมแดงในแต่ละมัดสู่ท้องตลาดเป็นลำดับต่อไป หลังจากนั้นก็จะมีการตรียมพื้นที่ปลูกในรอบใหม่ ซึ่งการเตรียมแปลงปลูกนั้นเกษตรกรจะทำการเก็บซากหอมแดงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของใบ ลำต้น และรากที่มีคุณภาพต่ำออกจากแปลงปลูกเดิม และเผาทำลายเพื่อไถดินตาก
พันธุ์ที่ใช้ปลูก นิยมปลูก พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ศรีสะเกษ พันธุ์บางช้าง พันธุ์เชียงใหม่ ปัจจุบัน หอมแดงที่ใช้ปลูกในจังหวัดลำพูนนำเข้าหัวพันธุ์จากหลายที่ เช่นจังหวัดอุตรดิตถ์ เชียงใหม่ หรือเกษตรกรเก็บพันธุ์หอมแดงไว้เอง
++ปฏิทินการเพาะปลูก++
หอมแดงส่วนมากในจังหวัดลำพูนจะปลูกในช่วงฤดูหนาว หลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
++การผลิตหอมแดงจังหวัดลำพูน++
จังหวัดลำพูนมีเนื้อที่เพาะปลูกปี 2564/65 รวมทั้งจังหวัดจำนวน 943 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม344ราย ในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดลำพูน ได้แก่ อำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง และอำเภอป่าซาง ให้ผลผลิตหอมแดง 5,075 ตันสด มีผลผลิตเฉลี่ย 5,382 กิโลกรัมต่อไร่ (ตัดสด/ไร่) โดยเดือนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตมากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์
++กระเทียม++
++กระเทียม มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น กระเทียมจีน (ทั่วไป), กระเทียมขาว, หอมขาว (อุดรธานี), กระเทียมหัวเทียม (คาบสมุทร) และหอมเตียม (ภาคเหนือ) เป็นต้น เป็นพืชผักอายุหลายปี แต่นำมาปลูกเป็นผักอายุปีเดียว มีกำเนิดอยู่ในแถวเอเชียกลาง สันนิษฐานว่าเป็นพืชดั้งเดิมของจีนและอินเดีย รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ มีบันทึกกล่าวว่าชาวโรมันไม่ชอบกระเทียม เนื่องจากมีกลิ่นแรงแต่จะใช้ประกอบอาหารสำหรับทหารและทาส
กระเทียมอยู่ในตระกูลเดียวกับหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกุ่ยฉ่าย โดยกระเทียมจะสร้างกลีบหลาย ๆ กลีบ และถูกห่อหุ้มรวมกันอยู่ใต้เปลือก ซึ่งมีลักษณะบางสีขาวหรือชมพู หุ้มให้เป็นหัวเดียว ใบเป็น ใบเลี้ยงเดี่ยว และแบน สามารถออกดอกและให้เมล็ดได้ นิยมขยายพันธุ์ด้วยกลีบเพราะให้ผลดีกว่ากระเทียมจะมีคุณค่าทางอาหารต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับพืชผักอื่น ๆ แต่อาหารบางชนิดจะหมดรสชาติ ถ้าหากขาดกระเทียม โดยเฉพาะผู้ที่นิยมรสและกลิ่นของกระเทียม
นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาแผลหลอดลมอักเสบ ไอ ท้องอืด เฟ้อ อาหารไม่ย่อย โรคผิวหนังบางประเภท และความดันโลหิตสูงกระเทียมเป็นพืชผักประเภทเนื้ออ่อนขนาดเล็ก
มีอายุประมาณ 75-180 วัน ปกติเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็นอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 12-22 องศาเซลเซียส ช่วงแสงแดดยาวประมาณ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน มีระยะการพักตัวเช่นเดียวกับพืชตระกูลหอมทั่ว ๆ ไป ประมาณ 5-6 เดือน ถ้าหากเก็บรักษานานกว่านี้ จะเริ่มฝ่อหรืองอก
ชนิดของกระเทียม กระเทียมที่ใช้เป็นอาหารมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. กระเทียมต้น ไม่มีหัว ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ เพื่อรับประทานลำต้นและใบเป็นพืชผักสดเท่านั้น
2. กระเทียมหัว ปลูกด้วยกลีบ หรือหัวพันธุ์ มีหลายพันธุ์ ซึ่งมาจากแหล่งต่าง ๆ กันมีอายุยาวนานกว่าประเภทแรก
พันธุ์ที่ใช้ปลูก นิยมปลูก พันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เชียงรายและพม่า
ปัจจุบัน กระเทียมที่ใช้ปลูกกันส่วนมากในจังหวัดลำพูน เป็นกระเทียมพันธุ์กลาง คือโดยทั่วไปมีลักษณะสีม่วงอ่อนที่เปลือก และข้างในมีสีขาว ทางภาคเหนือจะแบ่งพันธุ์กระเทียมออกเป็น กระเทียมดอ และกระเทียมปี กระเทียมดอเป็นกระเทียมที่ปลูกก่อนเก็บเกี่ยวข้าว ปลูกประมาณปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายน
หลังจากนั้น 1 – 2 เดือน จะปลูกกระเทียมปี กระเทียมดอจะได้ผลผลิตดีกว่ากระเทียมปี หัวโตกว่า เพราะขณะที่ต้นกระเทียมเจริญเติบโตนั้นตรงกับระยะเวลาอากาศหนาว หรือเย็นที่สุดของปี คือ เดือนธันวาคมและมกราคม
++ปฏิทินการเพาะปลูก++
กระเทียมส่วนมากในจังหวัดลำพูนจะปลูกในช่วงฤดูหนาว หลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนธันวาคม หากพ้นกำหนดนี้แล้ว กระเทียมจะยังคงงอกและเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก แต่จะไม่ทันแก่ก็พ้นฤดู คือ จะมีอาการใบแห้งตาย อาการเช่นนี้จะเป็นมากในช่วงกลางเดือนเมษายน เป็นต้นไป โดยปกติเกษตรกรหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็เตรียมดินการไถพรวนอย่างดีและจะปลูกกระเทียมในระยะต้นเดือนธันวาคม โดยยกแปลงให้กว้างประมาณ 1 – 4 เมตร ยาวไปตามเนื้อที่นา
++การผลิตกระเทียมจังหวัดลำพูน++
จังหวัดลำพูนมีเนื้อที่เพาะปลูกปี 2564/65 รวมทั้งจังหวัดจำนวน 895 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม 387 ราย ในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดลำพูน ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้อำเภอทุ่งหัวช้าง และอำเภอป่าซาง ให้ผลผลิตกระเทียม 3,200 ตันสด มีผลผลิตเฉลี่ย 3,574 กิโลกรัมต่อไร่ (ตัดสด/ไร่) โดยเดือนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตมากที่สุดคือเดือนมีนาคม
ครบถ้วนกระบวนความ หอมกระเทียมลำพูน แต่อยากกระซิบบอกเพื่อนๆผู้ชายอย่าง ควายดำทำเกษตรแบบเบาๆ กระเทียมดำจากลำพูน จัดว่าเด็ดสุดๆ ไม่ลองถือว่าไปไม่ถึงลำพูน