เพจ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” หรือ DTN โพสต์ข้อความว่า กระแส Soft power ข้าวเหนียวมะม่วงเกินต้าน
ขอบอกดังๆ เลยว่า ตัวเลขการส่งออก “มะม่วงสด”และ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ของไทย ภายใต้ ” FTA “ ก็ว้าวไม่แพ้กัน โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 65 พบว่ามีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2,934 ล้านบาท ขยายตัว 50 % แนะผู้ประกอบการไทยรักษาคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคและใช้ประโยชน์จาก “FTA” สร้างแต้มต่อขยายส่งออก
ก่อนหน้านี้นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “มะม่วงสดของไทย” เป็นผลไม้มาแรงและได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อได้เปรียบของ “มะม่วงสดไทย” คือมีผลผลิตตลอดทั้งปี มีหลากหลายพันธุ์ คุณภาพดี รสชาติหอมหวาน และรูปลักษณ์สวยงาม ครองใจผู้บริโภคชาวต่างชาติมาโดยตลอด ส่งผลให้ในแต่ละปีการส่งออก “มะม่วงสด” ไปตลาดคู่ “FTA” ของไทย มีมูลค่าการส่งออกสัดส่วนสูงถึง 98% ของการส่งออก “มะม่วงสด”ทั้งหมด
นางอรมน กล่าวว่า การส่งออกมะม่วงสดของไทยไปตลาดคู่ FTA 18 ประเทศของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกถึง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2564
โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นตลาดคู่ FTA อาทิ มาเลเซีย สัดส่วนการส่งออก 46% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด เกาหลีใต้ สัดส่วนการส่งออก 34% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด ญี่ปุ่น สัดส่วนการส่งออก 8% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด เมียนมา สัดส่วนการส่งออก 4% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด และเวียดนาม สัดส่วนการส่งออก 2% ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด ทั้งนี้ในปี 2564 ไทยส่งออกมะม่วงสดไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 93 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 53% จากปีก่อนหน้า
นางอรมน เพิ่มเติมว่า จากการติดตามสถิติการนำเข้าสินค้ามะม่วงสด พบว่า ประเทศคู่ FTA ของไทยหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน เป็นตลาดผู้นำเข้าสินค้ามะม่วงสดที่สำคัญ และนิยมพันธุ์มะม่วงที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ มะม่วงน้ำ ดอกไม้ มหาชนก เขียวเสวย และโชคอนันต์ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน 7 ประเทศ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนฯ เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย) จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้ามะม่วงสดจากไทยแล้ว ส่วนอีก 3 ประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา ลดภาษีนำเข้ามะม่วงเหลือ 5% ส่วนเกาหลีใต้ ลดภาษีนำเข้ามะม่วงเหลือ 24%
นอกจากนี้ ตลาดผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมขบเคี้ยวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันสินค้ามะม่วงอบแห้ง มะม่วงแช่แข็งได้รับแต้มต่อทางภาษีภายใต้ ” FTA “ เช่นเดียวกับ “มะม่วงสด” ส่วนข้าวเหนียวมะม่วงพร้อมรับประทาน จัดเป็นสินค้ากลุ่มอาหารปรุงแต่ง ซึ่งปัจจุบัน 16 ประเทศคู่ FTA ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว
“ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาเพิ่มรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในการส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น และควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้า พัฒนาคุณภาพการผลิตสม่ำเสมอ พิถีพิถันตั้งแต่การเพาะปลูก การบรรจุหีบห่อ มีใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งระมัดระวังการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง เนื่องจากปัจจุบันตลาดในหลายประเทศเข้มงวดและผู้บริโภคนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์” นางอรมน เสริม
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกมะม่วงอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก สำหรับในปี 2564 ไทยส่งออกมะม่วงสดสู่ตลาดโลก มูลค่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 52% จากปี 2563 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ไทยส่งออกมะม่วงสดมูลค่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เมียนมา และเวียดนาม