ราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๓ พ.ย. ๖๕ เผยแพร่ ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕ มีใจความว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกักพืช ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ แห่งประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๒ บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ณ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร ด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร หรือหน่วยงานที่กรมวิชาการเกษตรมอบหมาย “
ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔) ของข้อ ๔ แห่งประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยพีช และใบรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับการส่งต่อ พ.ศ. ๒๕๕๑
“(๔) การตรวจสอบศัตรูพืชหรือการกำจัดศัตรูพืช ต้องกระทำโดยกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยงานที่กรมวิชาการเกษตรยอมรับความสามารถเป็นผู้ดำเนินการ และใช้ประกอบการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชหรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ท้ายประกาศนี้”
ข้อ ๕ บรรดาคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อที่ยื่นไว้แล้วและยังไม่มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ หากผู้ยื่นคำขอประสงค์จะใช้ผลตรวจสอบศัตรูพืชของหน่วยงานอื่นที่กรมวิชาการเกษตรให้การยอมรับความสามารถแล้ว ให้ส่งผลตรวจสอบศัตรูพืชดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อประกอบกรพิจารณาออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อไป
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองปลอดศัตรูพืช มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Phytosanitary Certificate” หรือเรียกว่า PC คือใบรับรองที่ออกให้กับพืชหรือผลิตผลพืชเพื่อส่งออกต่างประเทศ และมีวัตถุประสงค์เพื่อรับรองว่าสินค้าที่ส่งออกนั้นปลอดจากแมลง ศัตรูพืช และเป็นไปตามเงื่อนไขปลายทาง
ปัจจุบันในการส่งออกพืชหรือผลิตผลพืชไปต่างประเทศนั้น ผู้ส่งออกสามารถยื่นขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชได้ เพื่อเป็นยืนยันว่าพืชหรือผลิตผลพืชที่ส่งออกนั้นปลอดภัย และปลอดศัตรูพืช ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีหน่วยงานที่พร้อมให้บริการ/ทำหน้าที่บริการตรวจพืชเพื่อรับรองความปลอดภัย/ปลอดศัตรูพืช และให้สอดคล้องกับมาตราการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชภายใต้องค์กรการค้าโลก WTO(World Trade Organization : องค์การการค้าโลก ) รวมถึงการออกใบรับรองดังกล่าว สำหรับการส่งออกไปต่างประเทศ
จุดประสงค์ของใบรับรองสุขอนามัยพืชนั้น คือ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของการนำเข้าของต่างประเทศ – ตรวจพืช ศัตรูพืช และควบคุมให้มีการกำจัดศัตรูพืชทางกักกันพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ