นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างภาคราชการและผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการของรัฐ ครั้งที่ 6/2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom Cloud meetings โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เข้าร่วม ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการติดตามและแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการของรัฐ
“โดยเฉพาะในวันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอัตราการชดเชย (กรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ) ของโครงการฝายห้วยหลวง ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง อำเภอสร้างคอม และอำเภอเพ็ญ จ.อุดรธานี โดยมติที่ประชุมให้ยึดตามหลักเกณฑ์ราคาเดิมที่คกก. ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 กรกฏาคม 2532 กำหนดราคาไว้ครั้งล่าสุด พ.ศ.2555 และเตรียมที่จะเสนอมติดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 กรกฏาคม 2532 เพื่อพิจารณาอัตราการชดเชย ซึ่งหลังจาก คกก. ดังกล่าวเห็นชอบแล้ว จะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป”
สำหรับการชดเชยตามหลักเกณฑ์ราคาที่คกก. ตามมติคณะรัฐมนตรี 11 กรกฏาคม 2532 กำหนดราคาไว้ พ.ศ.2555 นั้น จากการตรวจสอบในระดับพื้นที่อำเภอบ้านดุง มีผู้ได้รับความเดือดร้อนและที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 125 แปลง จะได้รับการชดเชยไร่ละ 32,000 บาท อำเภอสร้างคอม มีผู้ได้รับความเดือดร้อนและที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 10 แปลง จะได้รับการชดเชยไร่ละ 32,000 บาท อำเภอเพ็ญ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนและที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 55 แปลง จะได้รับการชดเชยไร่ละ48,000 บาท ทั้งนี้ประธานได้มอบหมายให้นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามและกำกับดูแลให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ แล้วเสร็จโดยเร็ว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการรายงานความก้าวหน้าของการกำหนด (ร่าง) หลักเกณฑ์กลางในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานของรัฐในกรณีต่าง ๆ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์กลางฯ และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาโครงการฝายห้วยหลวงมีข้อผิดพลาดอยู่มากและการผลักดันให้สร้างโครงการในช่วงนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงการนี้จะคุ้มทุนหรือไม่ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองในขณะนั้นทำให้มีการเร่งรัดสร้างโครงการ
จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านมักได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐอยู่เสมอ จนเราคุ้นหูกับคำว่า “สมัชชาคนจน ” โดย “สมัชชาคนจน” ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2538 เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐหลายปัญหา อาทิ ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำดินของชาวบ้าน ปัญหาไล่รื้อชาวบ้านในสลัม ประมงพื้นบ้าน นโยบายด้านการเกษตรขนาดใหญ่ สิทธิคนงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เมื่อมีปัญหาพวกนี้ชาวบ้านก็รวมตัวกันออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา