“คาดการณ์ว่า เมื่อสิ้นปีนี้ กว่างซีจะใช้วัสดุไม้จากต่างมณฑลและต่างประเทศมากกว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร การผลิตเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในครัวเรือน (Furniture and Household items) มีมากกว่า 25 ล้านชุด เพิ่มขึ้น 23.7% (YoY) ปริมาณการผลิตพื้นไม้ 13.6 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 9.7% (YoY)” แสดงให้เห็นถึงความต้องการวัสดุไม้สำหรับอุตสาหกรรมของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นมณฑลชั้นนำด้านในอุตสาหกรรม “ป่าและไม้” ของประเทศจีน ตามสถิติ พบว่า เขตฯ กว่างซีจ้วง ‘ยืนหนึ่ง’ ในด้านพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจ (ป่าปลูก) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และปริมาตรของไม้ยืนต้น (Growing stock) ที่สามารถตัดได้ของประเทศจีน และเป็น “ฐานการผลิตสินค้าไม้” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
-ช่วง 10 ปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ปลูกป่าเฉลี่ยปีละ 1.25 ล้านไร่ ปริมาณการผลิตไม้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.1% ไม้ที่ผลิตได้คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ
-พื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจ (ป่าปลูก) เพิ่มขึ้นจาก 640 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2555 เป็น 978 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5%
-ปริมาณการผลิตวัตถุดิบไม้เพิ่มขึ้นจาก 21 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2555 เป็น 39 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.1%
-มูลค่ารวมในอุตสาหกรรมป่าไม้ เพิ่มขึ้นจาก 219,400 ล้านหยวน ในปี 2555 เป็น 848,700 ล้านหยวน ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16.2% โดยมูลค่ารวมในอุตสาหกรรมป่าไม้ของกว่างซีก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของจีน
กรมกิจการป่าไม้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เปิดเผยว่า ปี 2564 การแปรรูปวัสดุไม้และไม้ไผ่ของกว่างซีมีมูลค่ารวม 3.1 แสนล้านหยวน และเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจป่าไม้ (Forestry Economic) ของกว่างซี
นอกจากนี้ กว่างซีมีศักยภาพในการผลิตแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ (Wood-based Panel) 51 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเป็น “ฐานการผลิตแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ” ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-68) เขตฯกว่างซีจ้วง มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ตั้งแต่ต้นน้ำ (วัสดุไม้) – กลางน้ำ (แผ่นไม้) ปัจจุบัน ศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ อาทิ แผ่นไม้อัด (Plywood) แผ่นไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) แผ่นไม้ปาร์ติเกิล (Particle board) สามารถผลิตได้หลายเกรด หลายขนาด โดยสามารถใช้ประโยชน์จากไม้ได้ทุกส่วน ทั้งเศษไม้ เปลือกไม้ และรากไม้
การที่ เขตฯกว่างซีจ้วง มีที่ตั้งติดชายฝั่งทะเลและติดชายแดน มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบงานขนส่งที่ครบวงจรบนระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC (ท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือแม่น้ำ และด่านชายแดน) ดังนั้น เขตฯ กว่างซีจ้วง จะใช้ข้อได้เปรียบข้างต้นในการผูกโยงกับแหล่งวัตถุดิบไม้สำคัญในภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะทวีปอเมริกา แอฟริกา เอเชียเนีย รวมถึงเอเชียคาคเนย์ (อาเซียน) และเร่งรัดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการแปรรูปไม้นำเข้า เพื่อบุกเบิกช่องทางการนำเข้าวัสดุไม้จากต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างห่วงโซ่การค้าและแปรรูปไม้นำเข้า-ส่งออกตามแนวพื้นที่ระเบียง ILSTC
ในแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้สมัยใหม่ที่มีคุณภาพสูง ระยะ 3 ปี กรมกิจการป่าไม้เขตฯ กว่างซีจ้วงตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับป่าและไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน อาทิ วัตถุดิบไม้ แผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ สินค้าที่ทำจากไม้ และเยื่อกระดาษแบบครบวงจร
เขตฯ กว่างซีจ้วง ยังมุ่งเป้าหมายการพัฒนาไปที่อุตสาหกรรมไม้และป่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษแบบครบวงจร และอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับไม้และป่า การวางผังอุตสาหกรรมของพื้นที่แปรรูปสินค้าไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลและเลียบแนวชายแดน เพิ่มปริมาณและความหลากหลายของวัสดุไม้ชั้นดีที่มีการนำเข้า และการจัดงานนิทรรศการการค้าเพื่อดึงดูดให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไม้จากต่างประเทศเข้ามา ‘ขุดทอง’ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากอาเซียน รัสเซีย แคนาดา และนิวซีแลนด์
ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วง มีมูลค่าเศรษฐกิจใต้ป่า (Under-forest Economy เป็นการทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับทำสวนป่าเศรษฐกิจ) เป็นอันดับต้นของประเทศจีน มีระดับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้เป็นอันดับ 1 ของประเทศจีน มีพื้นที่ป่าชายแดนอันดับ 2 ของประเทศจีน มีพื้นที่ปลูกชาน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน และมีเนื้อที่ป่า (Forest coverage rate) มูลค่าการบริการในเศรษฐกิจการป่าไม้ (forest ecosystem service value) และระดับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “วัสดุและของใช้ในครัวเรือนระดับไฮเอนด์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 9 สาขาที่รัฐบาลกว่างซีมุ่งส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) โดยอีก 8 สาขา ได้แก่ วัสดุใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ การผลิตเครื่องจักรกล ยานยนต์ วัสดุโลหะชนิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แคลเซียมคาร์บอเนตชั้นดี ชีวการแพทย์ (Biomedical) และสิ่งทอ
นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงการแปรรูปแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติกับการนำเข้าวัสดุไม้ชั้นดีทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ อุตสาหกรรมวัสดุตกแต่งบ้านระดับไฮเอนด์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกว่างซีมีแนวโน้มเติบโต ห่วงโซ่การผลิตและแปรรูปขั้นปลายน้ำได้รับการเติมเต็ม รวมถึงการสร้างสรรค์สินค้าสำเร็จรูป (Finished goods)
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุและของใช้ในครัวเรือนระดับไฮเอนด์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกว่างซี จะนำมาซึ่ง “โอกาส” ทางการค้าให้กับภาคธุรกิจส่งออกวัสดุไม้ของไทย โดยเฉพาะไม้ยางและไม้สนที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติและตลาดเฟอร์นิเจอร์ของประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับการส่งออกไม้ให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะไม้บางสายพันธุ์เป็นไม้หวงห้าม หรือเป็นไม้ที่ไม่สามารถขออนุญาตส่งออกได้ อย่างในกรณีของไม้ยาง เป็นไม้ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกโดยไม่จำกัดปริมาณ
ขณะที่ไม้สนและไม้ที่ทำออกจากสวนป่า อนุญาตให้ส่งออกตามปริมาณที่กำหนดในหนังสือรับรองจากกรมป่าไม้ หรือผู้ซึ่งกรมป่าไม้มอบหมาย เรื่องส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ป่าปลูก กรมป่าไม้ กรมศุลกากร และกระทรวงการคลัง ได้ประกาศลดอากรส่งออกจนเหลือ 0% ไปเรียบร้อยแล้วในกุมภาพันธ์ 2565
อนึ่ง ในการจัดโครงการนำคณะนักธุรกิจและสื่อมวลชนจากเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2562 ได้มีการนำคณะนักธุรกิจไปรู้จักกับผู้ส่งออกไม้ยางพาราท้องถิ่นใน จ. สงขลาและ จ. ยะลา และ ได้ทราบว่า ไม้ยางพาราเป็นหนึ่งในวัสดุไม้ที่ตลาดเฟอร์นิเจอร์จีนมีความต้องการสูง ที่สำคัญ ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ แล้ว สองฝ่ายได้มีการเจรจาสั่งซื้อไม้ยางพาราจากประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจ/นักลงทุนไทยยังสามารถศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ของกว่างซี โดยอาจใช้วิธีการจับคู่ธุรกิจในลักษณะแบ่งงานตามความถนัดเพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมของสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถแสวงหา/แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ทรัพยากรและเทคโนโลยีระหว่างกัน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้
ที่มา :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน