วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย (น้ำล้นตลิ่ง) ณ สวนศรีวิเชียร ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
พร้อมมอบปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 50 ชุด โดยแต่ละชุดประกอบด้วย มะเขือเปราะคางกบ ศก.2 พริกหอมสุพรรณ ถั่วพูเขียว และกระเจี๊ยบเขียวธราธิป และต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้าบางบาลจำนวน 100 ต้น จากศูนย์ขยายพันธุ์พืช ที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นหลังน้ำลด
นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากเหตุอุทกภัย (น้ำล้นตลิ่ง) ส่งผลให้พื้นที่เกษตรของจังหวัดสิงห์บุรี ทั้ง 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอบางระจัน อำเภออินทร์บุรีอำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง และอำเภอค่ายบางระจัน ได้รับผลกระทบ โดยคิดเป็นพื้นที่คาดว่าจะเสียหายจำนวน 41,450.53 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 36,963 ไร่ อ้อย 1,035 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 829 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 2,623.53 ไร่ และเกษตรกรได้รับผลกระทบ 5,199 ราย (ข้อมูลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565)
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัย ทั้งการเข้าสำรวจพื้นที่ภายหลังน้ำลด และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืช และชีวภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่
นายนวนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564
โดยมีอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ และไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว