ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. คาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจการเกษตร ภายหลังภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปรับสู่โรคท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว ทั้งด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตไปสู่ตลาดโลก ซึ่งคาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 8 และเศรษฐกิจเกษตรตลอดทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.1
โดยมีปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นโยบายรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรและรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตรและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้ของเกษตรกรขยายตัวถึงร้อยละ 15.53 ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัว ร้อยละ 12.66 และดัชนีผลผลิตที่ขยายตัว ร้อยละ 2.55
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกชุกและอุทกภัยในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง แรงงานภาคการเกษตรที่โยกย้ายไปนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นและราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวลดลงจากที่คาดการณ์
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และความต้องการสินค้าอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากภาวะสงคราม จากแนวโน้มดังกล่าว ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปสนับสนุนและต่อยอดการผลิตและการแปรรูปทางการเกษตร ผ่านการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อ Contract Farming สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ในส่วนของเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ธ.ก.ส.ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น พร้อมนำมาตรการดูแลภาระหนี้สินต่างๆเข้าไปดูแล ควบคู่ไปกับมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้าผ่าน โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อนำไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท