สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นและอุณหภูมิลดลง ฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนัก เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว รับมือ “ด้วงแรดมะพร้าว”
สำหรับ ด้วงแรดมะพร้าว หรือ ด้วงมะพร้าว (อังกฤษ: Coconut rhinoceros beetle, Indian rhinoceros beetle, Asian rhinoceros beetle) เป็นด้วงกว่างชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryctes rhinoceros
มีลำตัวสีน้ำตาลแดงเกือบดำ มีขนสีน้ำตาลอ่อนที่ด้านข้างของส่วนหัว อก ขา และด้านล่างของลำตัว ตัวผู้มีเขาคล้ายนอแรดที่ส่วนหัวค่อนข้างยาว ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้แต่มีเขาสั้นกว่า และที่ส่วนปลายของท้องด้านล่างมีขนเยอะกว่าตัวผู้ และมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ไม่มาก
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 37-45 มิลลิเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในอนุทวีปอินเดียและเอเชียอาคเนย์ โดยด้วงกว่างชนิดนี้ถือเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญมากของพืชจำพวกปาล์มและมะพร้าวในทวีปเอเชีย โดยหลังจากวางไข่แล้วฟักเป็นตัวหนอนก็จะเจริญเติบโตกัดกินอยู่ด้านล่างหรืออยู่ในดิน ไข่มีทรงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ฟักเป็นตัวในระยะเวลา 7-8 วัน หนอนมีสีขาวนวลมีอายุ 3-4 วัน มีส่วนหัวเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เป็นดักแด้ประมาณ 1 เดือน ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2-3 เดือน นับว่าเป็นด้วงกว่างที่มีระยะเวลาเจริญเติบโตเร็วมาก
ตัวเต็มวัยเข้าทำลายพืช โดยการบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ๆ คล้ายหางปลา หรือรูปพัด ถ้าโดนทำลายมาก ๆ จะทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดยอดเน่า จนถึงต้นตายได้ในที่สุด
ด้วงแรดมะพร้าวในระยะตัวหนอน ส่วนใหญ่พบตามพื้นดินในบริเวณที่มีการกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จะกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้พบอาการยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกรนไม่เจริญเติบโต
ด้วงแรดมะพร้าว มี 2 ชนิดได้แก่ด้วงแรดชนิดเล็ก และด้วงแรดชนิดใหญ่ ด้วงแรดทั้ง 2 ชนิด มีรูปร่างลักษณะและวงจรชีวิตคล้ายคลึงกัน ด้วงแรดสามารถแพร่กระจายได้ทั่วประเทศและเพิ่มจำนวนได้ตลอดปี ปริมาณมากหรือน้อยขึ้นกับแหล่งเพาะขยายพันธุ์
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
วิธีเขตกรรม ทำความสะอาดบริเวณสวนมะพร้าวเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมานาน ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย แกลบ ควรกำจัดออกไปจากบริเวณสวน หรือกองให้เป็นที่ แล้วหมั่นกลับเพื่อตรวจดู หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองขยะนั้นเสีย ส่วนของลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย ต้นมะพร้าวที่ถูกตัดเพื่อปลูกทดแทน ถ้ายังสดอยู่เผาทำลายไม่ได้ ควรทอนออกเป็นท่อนสั้น ๆ นำมารวมกันไว้ ปล่อยให้ผุสลายล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ ด้วงจะวางไข่ตามเปลือกมะพร้าวที่อยู่ติดกับพื้นดินเพราะมีความชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว เผาทำลายท่อนมะพร้าวเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว ตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่ได้