ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งศูนย์ข้าวชุมชนต้นแบบ ที่มีการบริหารจัดการที่ดีในด้านการผลิตและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพ รวมไปถึงการแปรรูปสินค้าจากข้าวในรูปแบบต่าง ๆ และการเชื่อมโยงกับพ่อค้าหรือโรงสี ให้เข้ามารับซื้อข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวจากศูนย์ฯโดยตรง โดยมีนายจารึก กมลอินทร์ นั่งเป็นประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม และควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ อีกหนึ่งตำแหน่ง
ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม เผยว่า ระบบการผลิตและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว มีการวางแผนในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าว การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การอบเมล็ดพันธุ์ข้าว และการเก็บรักษา รวมไปถึงการจำหน่ายและการสร้างเครือข่ายกับโรงสีต่าง ๆ ที่จะเข้ามารับซื้อ
“เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกมาตรฐานการส่งออกของศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม คือข้าวหอมปทุม มีทางโรงสีมารับซื้อโดยตรง โดยศูนย์ฯมีการต่อรองราคากับพ่อค้าโรงสีหรือผู้ส่งออกได้ในราคาที่พอใจ เนื่องจากมีการรวมกลุ่มกันที่เข้มแข็ง มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนมาก แต่ละปีมีผลผลิตหลายตัน ทำให้ทางโรงสีเข้ามารับซื้อโดยตรง เพราะมีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการ โดยอยู่ระหว่างประสานให้เกษตรกรกลุ่มอื่น ๆได้รวมตัวกันให้ได้ เพื่อป้องกันการกดราคาจากทางโรงสี และเกษตรกรต้องหันมาแปรรูปเป็นสินค้าที่หลากหลาย ไม่เน้นผลิตเฉพาะเมล็ดพันธุ์อย่างเดียว เพราะจะทำให้ช่องทางการตลาดแคบ”
สำหรับกรมการข้าว ได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องเครื่องจักร เช่น เครื่องอบข้าว ที่ทำให้ทางศูนย์ฯมีศักยภาพในการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เป็นอย่างดี ช่วยลดภาระในการตากข้าว ที่เกษตรกรบางรายไม่มีพื้นที่ และบางครั้งก็เกิดความเสียหายจากฝนตก ทำให้ข้าวชื้น ไม่แห้ง เมื่อมีเครื่องอบข้าว ทำให้ลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้ โดยจะเก็บที่ความชื้นไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์
ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนทั่วประเทศว่า อยากให้เกษตรกรทั่วประเทศรวมกลุ่มกันให้ได้ แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่ม หรือวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น แต่แนวทางการรวมกลุ่มยังใช้ได้กับการทำเกษตรด้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการต่อรองด้านราคากับนายทุน หรือพ่อค้า และเมื่อมีการรวมตัวกันได้ จะป้องกันการเอาเปรียบด้านราคาและการตลาด และเมื่อเข้มแข็งมากพอ ก็สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้