31 ต.ค.65 ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ส่วนหน้า สุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูมรสุมภาคใต้ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ และเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการสาธารณภัยร่วมกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยทางภาคตะวันออกและต่อเนื่องลงมาจนถึงอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ได้ จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง
สำหรับคลื่นลมจะมีกำลังแรงและคลื่นสูงในบางช่วงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการสาธารณภัยและรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า จึงได้ตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ส่วนหน้า ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้
โดย กอปภ.ก. ส่วนหน้า สุราษฎร์ธานี จะเป็นศูนย์สั่งการ ประเมินวิคราะห์สถานการณ์ เชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์น้ำ การประเมินความเสี่ยงภัย การเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนร่วมกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรด้านสาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้
นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า ได้สั่งการทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์และคาดการณ์สถานการณ์ภัยไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งบูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน น้ำท่าเพื่อให้ทราบข้อมูลแนวโน้ม ประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมการจัดการสาธารณภัยในทุกมิติ และนำไปสู่การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแบบเจาะลึกถึงพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
รวมถึงเตรียมแผนการบริหารจัดการเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล รถสูบน้ำ รถปฏิบัติการอุทกภัย เรือท้องแบน เฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 เข้าสแตนบายด์ในแต่ละพื้นที่เตรียมพร้อมรับภารกิจ โดยให้จังหวัดชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อจะได้จัดสรรและกระจายเครื่องจักรกลเข้าติดตั้งประจำพื้นที่ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ ปภ. มีจุดระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และภูเก็ต ที่พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติการเตรียมพร้อม ป้องกัน รับมือ เผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัด
นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้เน้นย้ำจังหวัดและทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยให้เร่งคลี่คลายสถานการณ์และมุ่งดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่การดำรงชีพของประชาชน และระบบไฟฟ้าและสาธารณูปโภคให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มกำลัง
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”