เตือนให้หมั่นสำรวจสวน “เพลี้ยไฟพริก” สบช่องฤดูหนาวอากาศแห้งแล้ง รุมระบาด

กรมวิชาการเกษตร เตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกพริกเฝ้าระวังการระบาดเพลี้ยไฟพริก ซึ่งมักจะพบการระบาดในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง จากยอด ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทำให้ใบ หรือยอดอ่อนหงิก ขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเข้าทำลายระยะพริกออกดอก จะทำให้ดอกพริกร่วงไม่ติดผล การทำลายในระยะผล จะทำให้รูปทรงของผลบิดงอ ถ้าการระบาดรุนแรงพืชจะชะงักการเจริญเติบโตหรือแห้งตายในที่สุด

312577434 458228736456346 5988381456337900899 n
เพลี้ยไฟพริก

ลักษณะของเพลี้ยไฟพริก

เพลี้ยไฟพริก เป็นแมลงปากดูดที่มีลักษณะเล็กมาก มีรูปร่างเรียว ลำตัวยาวประมาณเพียง 1-2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนจะไม่มีปีก ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนออกไปทางเหลือง ส่วนตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลเข้ม หรือน้ำตาลดำ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะเคลื่อนที่ได้เร็วมาก ทำให้สังเกตได้ยาก

เพลี้ยไฟพริก นอกจากเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพริกแล้ว ยังทำลายพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ และเป็นพาหะของเชื้อไวรัสโรคพืช เช่น ไวรัสโรคใบหงิกในพริก ไวรัสโรคไหม้ถั่วลิสง ไวรัสใบจุดด่างพัดถั่วลิสง 

แนวทางป้องกัน แนะนำให้เกษตรกรสุ่มสำรวจพริก 100 ยอด/ไร่ทุกสัปดาห์ โดยเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ และทำการป้องกันกำจัดเมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้พืชขาดน้ำเพราะจะทำให้พืชอ่อนแอและเพลี้ยไฟพริกจะระบาดอย่างรวดเร็ว

หากพบการระบาดให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ ได้แก่ สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์10% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

โดยขณะพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุดและพ่นให้ทั่วตามส่วนต่างๆของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่กรณีระบาดรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้งควรใช้ปุ๋ยทางใบเพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น

นอกจาก “เพลี้ยไฟพริก” แล้วเกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนและเฝ้าระวังโรคที่มีสาเหตุจากไวรัสที่มีเพลี้ยไฟเป็นแมลงพาหะ ได้แก่ โรคใบด่าง โรคเส้นใบด่างประ โรคใบหงิกเหลืองพริกและโรคใบด่างจุดวงแหวนเนื้อเยื่อตาย

โดยแนวทางป้องกันโรคดังกล่าวแนะนำให้เกษตรกรใช้พันธุ์ต้านทานโรค ไม่นำผลพริกจากต้นที่เป็นโรคมาเพาะขยายพันธุ์ ควรเพาะกล้าพริกในมุ้งกันแมลงและคัดเลือกกล้าพริกที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคมาปลูก หมั่นตรวจแปลงปลูกหากพบพริกที่แสดงอาการของโรคให้ถอนและนำไปทำลายหรือฝังดินนอกแปลงทันที

รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกเพื่อลดแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้ายาง และกระทกรก นอกจากนี้ต้องไม่ปลูกพืชหมุนเวียนที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัส เช่น มะเขือต่าง ๆยาสูบแตงกวาฟักทองบวบเหลี่ยมและมะระจีน