วันที่ 29 ต.ค.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565 ฉบับใหม่ ใช้แทนประกาศฉบับเดิมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2565 โดยประกาศฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้(29 ต.ค.65) เป็นต้นไป เพื่อเป็นข้อกำหนด เงื่อนไขสำหรับประชาชนที่ต้องการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพืชกัญชา กัญชง จากทุกประเทศ
สำหรับสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงจากฉบับเดิมนั้น อยู่ในส่วนของการเพิ่มช่องทางการขนส่งเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยอนุญาตให้นำเข้าในลักษณะเป็นสินค้าขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก จากเดิมที่สามารถขนส่งเฉพาะทางอากาศเท่านั้น พร้อมกับยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชด้วยกรรมวิธีคลุกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราหรือสารป้องกันกำจัดเชื้อราพร้อมระบุชื่อสารเคมีและอัตราที่ใช้ ลงในใบรับรองสุขอนามัยพืช
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนข้อกำหนดอื่น ๆ คงสาระสำคัญความเข้มงวดในการนำเข้าเช่นเดียวกับประกาศฉบับเดิม อาทิ ข้อกำหนดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงที่ส่งมายังราชอาณาจักรไทย ต้องไม่ใช่พืชที่ได้รับการดัดแปลงสารพันธุกรรม มีข้อกำหนดให้บรรจุเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงในบรรจุภัณฑ์ที่ใหม่ สะอาด และต้องไม่มีการปะปนของแมลงที่มีชีวิต การปลอมปนของเมล็ดพืช ดิน เศษซากพืชและสัตว์
ที่สำคัญต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ซึ่งออกให้โดยองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติจากประเทศผู้ส่งออกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชงมาถึงด่านนำเข้าในราชอาณาจักรไทย จะมีการตรวจโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสารทั้งหมด ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีสิทธิสั่งให้ส่งกลับ หรือสั่งให้ทำลายซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง กรณีถ้าพบการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนำเข้าด้านเอกสารและด้านสุขอนามัยพืช เป็นพืชที่ได้รับการดัดแปลงสารพันธุกรรม หรือมีการปะปนของแมลง การปลอมปนของเมล็ดพืช ดิน เศษซากพืชและสัตว์ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กัญชาเป็นพืชในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศอบอุ่น เช่น เอเชีย, อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง ในประวัติศาสตร์มีรายงานการใช้ประโยชน์จากกัญชายาวนานกว่าสี่พันปี เช่น ใช้เป็นอาหารคนหรือสัตว์ ใช้เป็นสิ่งเสพติดเพื่อการผ่อนคลาย และใช้ทำอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เชือก หรือเสื้อผ้า รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
การใช้กัญชาทางการแพทย์มีอย่างแพร่หลายในหลาย ๆ ทวีป แต่เริ่มมีการรายงานอย่างเป็นระบบในยุโรปและอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้า มีการค้นพบสารที่เป็นองค์ประกอบในกัญชาซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยเฉพาะจากใบและช่อดอก
สารสำคัญในกัญชาคือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) เมื่อเข้าสู่สมองจะจับกับ cannabinoid receptors ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม กระวนกระวาย บางรายอาจมีการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือ หลงผิด
สารสำคัญรองลงมา คือ cannabidiol (CBD)ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่า การค้นพบสารสำคัญนี้ ทำให้การควบคุมกัญชาเข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้กัญชายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเสรีชนโดยใช้เพื่อการสังสรรค์หรือผ่อนคลาย