นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบาย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมวิชาเกษตรมีเทคโนโลยีในการผลิตผักปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน พัฒนาพื้นที่เกษตร ที่มีศักยภาพ สู่ชุมชนนวัตกรรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคกลาง
โดยที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาปุ๋ยราคาแพง โรคและแมลงเข้าทำลายทำให้ผลผลิตพืชผักเสียหายไม่เพียงพอจำหน่าย เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร ได้นำเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 7 เทคโนโลยี ถ่ายทอดให้เกษตรกรผลิตผักปลอดภัย และเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรอีกทางด้วย ได้แก่
ปุ๋ยหมักเติมอากาศ เน้นการผสมระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจนในสัดส่วนที่เหมาะสมมีการพัฒนาระบบเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ย เพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ย่อยสลายที่มีอยู่ในกองปุ๋ยธรรมชาติ เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้ววัสดุอินทรีย์จะแปรสภาพเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งสารอินทรีย์ได้แปรสภาพเป็นสารอนินทรีย์ หรือธาตุอาหารพืชที่ดูดได้โดยตรงทำให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ย
แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสด (เฟิร์นน้ำขนาดเล็ก) ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สลายตัวได้ง่ายทำให้ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็ว ใช้เป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนให้กับผักรับประทานใบและต้น
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นจุลินทรีย์ที่จัดอยู่ในจำพวกเชื้อราชั้นสูง เส้นใยมีผนังกั้นแบ่งมีประโยชน์สำหรับใช้ควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เช่น รากเน่าโคนเน่า
ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย สามารถนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนไยผัก หนอนกระทู้ผัก และเป็นการช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์
เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ใช้ควบคุมโรครากปมที่เกิดจากปัญหาการระบาดของไส้เดือนฝอย เช่น โรครากปมพริก มะเขือเทศ
มวนพิฆาต เป็นศัตรูธรรมชาติประเภทตัวห้ำใช้ควบคุมหนอนศัตรูพืชในแปลงผัก โดยการปล่อยมวนพิฆาตระยะตัวอ่อน วัย 3 ขึ้นไปให้กระจายทั่วแปลง หรือบริเวณระบาด ซึ่งจะลดปริมาณหนอนศัตรูพืชได้80-90% ควบคุมการระบาดได้ภายใน 5 วัน
แมลงหางหนีบขาวงแหวน เป็นแมลงตัวห้ำที่สามารถกินไข่ของแมลง และแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่นหนอนกออ้อย เพลี้ยอ่อน และแมลงขนาดเล็ก
“โครงการชุมชนนวัตกรรมวิชาการเกษตรพืชผักบึงบา ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 15 ราย พื้นที่ 60 ไร่ ได้นำ 7 เทคโนโลยี ของกรมวิชาการเกษตร ทำแปลงต้นแบบ(คะน้า และกวางตุ้ง) จำนวน 10 แปลง ให้เกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่เข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ และสามารถนำไปปรับใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดินมีปริมาณธาตุอาหารเพียงพอเหมาะแก่การผลิตผัก ผลผลิตพืชผักจากแปลงมีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างในผลผลิต ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
โดยเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรสามารถทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตผักจากไร่ละ 17,290 บาท เป็น 14,850 บาท ลดลง 14 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 14,180 บาทต่อไร่ อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตพืชผักปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ เพื่อส่งตลาดรับซื้อผลผลิตพืชผักอินทรีย์ให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการผลิตพืชมีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว