วันที่ 28 ต.ค.65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม โดยมี นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เภสัชกร วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร เข้าร่วม ที่กระทรวงยุติธรรม
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตนมักจะถูกประชาชนสอบถามถึงความคืบหน้าการขออนุญาตทำพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์ จึงได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือวันนี้ เพื่อจะได้นำความคืบหน้าไปตอบประชาชนว่า ขณะนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการขับเคลื่อนในด้านใดไปแล้วบ้าง ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการ เกิดความสบายใจในการจะลงทุน เพราะขณะนี้ของต่างประเทศอย่างอเมริกา ก็มีผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม อยู่จำนวนหนึ่งแล้ว
เภสัชกร วราวุธ ชี้แจงว่า อย. ได้มีการขับเคลื่อนด้วยการรวบรวมข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์อาหาร ควรมีสารไมทราไจนีนเท่าไหร่ ซึ่งการดำเนินการมีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยจากนี้ก็ต้องมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัย เพื่อนำข้อมูลมาสนับสนุน กำหนดมาตรฐานกลางสารไมทราไจนีน ในผลิตภัณฑ์ ขณะที่ ผู้ประกอบการ ก็ต้องจัดอบรมเพิ่มความรู้ เพราะที่ผ่านมา มีหลายรายที่ยื่นมา แต่ยังไม่สามารถเตรียมเอกสารบางรายการได้ ทาง อย. จึงให้คำแนะนำเรื่องเอกสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจ พร้อมคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ส่วนการกำหนดสารไมทราไจนีนในผลิตภัณฑ์ ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัม เพราะอ้างอิงจากข้อมูลวิทยาศาสตร์ เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชน รวมถึงก็ยังมีสิ่งที่ต้องระวังอีกคือ สารปนเปื้อน โลหะหนัก ดังนั้น นอกจากมีการเตรียมข้อมูลทางวิชาการแล้ว ก็ต้องมีการทำคู่ขนาน ในการให้ความรู้เกษตรกรให้ได้มาตรฐานด้วย
ส่วน ผศ.นพ.วรวิทย์ กล่าวเสริมว่า ถ้าจะเพิ่มสารไมทราไจนีนในผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ก็ต้องดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ถึงแม้จะมีข้อมูลว่า ใบกระท่อม 1 ใบ จะมีสารไมทราไจนีน เฉลี่ย 1.2-1.4 มิลลิกรัม หรือ บางพื้นที่จะมีถึง 4 มิลลิกรัม แต่ก็ต้องรองานวิจัย ที่ขณะนี้ กำลังศึกษาว่า ปริมาณ 10 มิลลิกรัม จะสามารถใช้กับคนได้หรือไม่ โดยมีการทดสอบกับอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 400 คน ในระยะเวลา 6 เดือน และจะเก็บข้อมูลครบถ้วนในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งหากไม่มีผลข้างเคียง ก็จะทำให้สามารถเพิ่มสารไมทราไจนีน ในผลิตภัณฑ์ได้
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การศึกษาข้อมูล 1 ปี สามารถปรับเป็น 3 ระยะได้หรือไม่ เช่น ระยะสั้น 3 เดือน ระยะกลาง 6 เดือน และระยะยาว 1 ปี เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมากำหนดมาตรฐานกลางสารไมทราไจนีนได้ก่อน ซึ่งถ้าจะใช้เวลา 1 ปีอย่างเดียว ตนก็ไม่อยากคุยด้วยแล้ว เพราะจะไม่สามารถไปตอบประชาชนได้ อย่าง พื้นที่บ้านนาสาร ก็กินใบกระท่อม มากว่า 30 ปี ซึ่งก็สามารถไปเก็บตัวอย่างมาประกอบการกำหนดมาตรฐานกลางได้ เพราะเป็นข้อมูล จากผู้ใช้จริง โดยสามารถนำเลือดไปตรวจ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลได้เลยว่าคนที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน เป็นอย่างไรบ้าง
“คนที่อยากค้าขาย เขาบอกว่า 1 ใบ มีสารไมทราไจนีน ถึง 1.5 มิลลิกรัม ถ้าใส่ปุ๋ยดี จะมีถึง 4 มิลลิกรัม ซึ่งปกติคนก็จะกินหมดใบ ดังนั้น การที่เราออกตัวเลข ต้องสอดคล้องกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งตอนนี้ จะต้องใช้เวลา 1 ปี ในการเร่งศึกษาข้อมูล เพื่อหาตัวเลขที่เป็นมาตรฐานกลาง รวมถึงสารสำคัญที่ต้องดู นอกจากสารไมทราไจนีนแล้ว ยังต้องดูในเรื่องของสารปนเปื้อน โลหะหนัก จุรินทรีย์ ด้วย ทำให้ขณะนี้ รอข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งหมด เพื่อจะได้กำหนดสารไมทราไจนีนในผลิตภัณฑ์ ได้เหมาะสม” รมว.ยุติธรรม กล่าว