การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งสำรวจพื้นที่สวนยางที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ พร้อมเยียวยาสวนยางผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภายใต้กองทุนพัฒนายางพารา เตรียมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีดูแลสวนยางหลังน้ำท่วม ลดความเสียหาย ฟื้นฟูสวนได้เร็วหากสวนเสียหายสิ้นเชิงสามารถยื่นขอปลูกแทนได้ใหม่ทันที
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมถึงเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนยางได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขังหนัก
กยท.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง มีมาตรการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบอุทกภัยผ่านกองทุนพัฒนายางพารา โดยมีหลักเกณฑ์ คือต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 20 ต้นในแปลงเดียวกัน เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือ รายละ 3,000 บาท นอกจากนี้ กรณีสวนปลูกแทนที่ประสบอุทกภัยซึ่งหากพบว่าเสียสภาพสวน จะให้ระงับการปลูกแทน โดยไม่เรียกเงินคืนในส่วนที่เสียหาย จากนั้นจึงอนุมัติให้การปลูกแทนใหม่ แต่ต้องไม่เกินเนื้อที่ที่ระงับการปลูกแทน กรณีไม่เสียสภาพสวน ต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น(พืชหลัก) อายุไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถค้ำยันได้ ต้องปลูกซ่อมเท่านั้น
โดย กยท.จะช่วยเหลือเป็นเงินค่าปลูกซ่อมครั้งเดียว อัตราต้นละ 45 บาท ส่วนต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น ที่เสียหายเอนล้ม แต่สามารถตัดแต่ง และค้ำยันให้ตรงได้ กยท. จะช่วยเหลือค่าค้ำยันครั้งเดียว โดยต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราต้นละ 35 บาท และต้นยาง อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปอัตราต้นละ 110 บาท
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยางพาราถือเป็นพืชที่ค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากสามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้พอสมควร ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน ขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับน้ำและความยาวนานของน้ำที่ท่วมขัง ดังนั้นการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้นหลังจากน้ำลดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
กยท.แนะนำเกษตรกรสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วม โดยกำชับให้ กยท.ในพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความรู้แก่เกษตรกรในการดูแลสวนยางหลังน้ำท่วมอย่างถูกวิธีผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทุกช่องทาง ผู้ว่าการ กล่าวทิ้งท้าย