สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุว่า ทำไมน้ำท่วมปีนี้ (ปี 2565 )ไม่หนักเท่ากับน้ำท่วมปี 2554 โดยระบุว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2565 จนถึงปัจจุบัน บริเวณภาคกลางมีพื้นที่ประสบภัยแผ่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปีนี้ “บางพื้นที่” มีระดับน้ำท่วมสูงมากกว่าปี 2554 ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยระดับน้ำที่สูงนั้นพบว่าเป็นมวลน้ำที่มาจากปริมาณฝนที่ตกสะสมในบริเวณภาคกลางตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน
ผลการเปรียบเทียบปริมาณฝนตั้งแต่ พ.ค. – ก.ย. ปี 2565 เทียบกับ 2554 เราจะเห็นความแตกต่างปริมาณฝนสะสมตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อย่างชัดเจน ในปี 2565 พบว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่ากับ 1,114 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยในปี 2554 อยู่ร้อยละ 16 ในขณะที่บริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยปี 2565 มากกว่าปี 2554 อยู่ร้อยละ 6
เราสามารถสรุปได้ว่า พื้นที่จังหวัดลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา บางพื้นที่มีน้ำระดับท่วมสูงหรืออาจสูงกว่าปี 2554 ในบางจุดนั้น สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลางปริมาณมากทำให้มีน้ำสะสมอยู่ในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว จากนั้นจึงได้มีมวลน้ำที่มาจากทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงมาเติม (จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และสุโขทัย) นั่นจึงเป็นคำตอบให้เราได้ว่ามวลน้ำบริเวณภาคกลางของปีนี้เกิดจากปริมาณฝนในพื้นที่มากกว่ามวลน้ำที่มาจากพื้นที่ต้นน้ำ
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย( ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 21 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก และปราจีนบุรี รวม 90 อำเภอ 705 ตำบล 4,667 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบรวม 401,374 ครัวเรือน สถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดมีแนวโน้มระดับน้ำลดลง
ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศระหว่าง 26 – 28 ต.ค. 65 มวลอากาศเย็นจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล) ทำให้มีฝน/ฝนฟ้าคะนอง ในระยะแรก ที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุม ปริมาณฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง มีอากาศเย็นในตอนเช้า
ส่วนร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ยังต้องระวังฝนตกสะสม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
นอกจากนี้ ช่วงวันที่ 29 ต.ค.- 4 พ.ย.65 มีมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรง ยังแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศเย็นลงทางตอนบน ยอดดอย ยอดภู มีอากาศหนาว ฝนน้อยลง
ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและมีฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนกลางถึงตอนล่างได้ คลื่นลมแรงขึ้นด้วย ช่วงปลายเดือนนี้คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมต่อเนื่อง เตรียมรับลมหนาวบริเวณทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน