เลขานุการ รมว.เกษตรฯ พบกลุ่มเกษตรกรที่ขอรับสิทธิการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล จังหวัดสุรินทร์ พร้อมชี้แจงผลการหารือและเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ สร้างความพอใจแก่กลุ่มเกษตรกร เตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันพรุ่งนี้ ( 26 ต.ค. 65 )
นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางพบกับกลุ่มเกษตรกรกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน (สกอ.) และกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรภาคอีสาน (สพอ.) โดยมี นายธิติ โลหะปิยะพรรณผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางณัฐชุตา เข็มทองสกุล หัวหน้ากลุ่มรับเรื่องร้องเรียน เข้าร่วม ณ เกาะกลางบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงให้กับกลุ่มเกษตรกรทราบว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 65 ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกรณีราษฎรขอรับสิทธิการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล จังหวัดสุรินทร์ และได้จัดทำรายงานการประชุม เพื่อส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนทราบเรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งมอบสำเนาหนังสือที่นำส่ง สปน. ให้แก่ตัวแทนเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวให้กำลังใจแก่กลุ่มเกษตรกรที่เดินทางมาชุมนุม โดยกลุ่มเกษตรกรมีความพอใจในการดำเนินการดังกล่าว และกล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรและให้กำลังใจด้วยการมอบดอกไม้ อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรกรจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในวันพรุ่งนี้ต่อไป
“เขื่อนราษีไศล” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับและเก็บกักน้ำในลำน้ำมูนและลำสาขา และผันน้ำโขงเข้ามาเติมปริมาณในพื้นที่ชลประทานของโครงการ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรมและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2534 ตรงบริเวณปากห้วยทับทันไหลลงสู่แม่น้ำมูน ตัวโครงการตั้งอยู่บริเวณ บ้านดอนงูเหลือม ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ ดำเนินการโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มกักเก็บน้ำเมื่อปี 2536 การดำเนินงานโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน และไม่มีการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อุบล อยู่หว้า ที่ปรึกษาอาสาสมัครประจำศูนย์เรียนรู้ราษีไศล ผู้ติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวว่า คนที่ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไม่รู้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าเชิงระบบนิเวศน์เทียบเท่ากับป่าไม้และป่าชายเลน ไม่รู้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำแบบนี้ก็มีในภาคอีสาน ไม่รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ต้นไม้ใหญ่เท่านั้นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ชุ่มน้ำก็ด้วย ดังนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำจึงไม่ควรถูกลดคุณค่าหรือถูกทำลาย