ย้อนกลับไปก่อนปี 2556 ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงโปในพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียนและมีรายได้หลักจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง และมีบางส่วนรุกพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอันเป็นมรดกโลก จนเกิดปัญหาขัดแย้งกับทางเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
ต่อมาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ จังหวัดอุทัยธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี กรมป่าไม้ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และชลประทานจังหวัด ร่วมกันทำงานภายใต้โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวและพืชผักผลไม้เมืองหนาว เพื่อให้มีบริโภคในครัวเรือน หากเหลือจึงขาย เนื่องจากพื้นที่นี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร สามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสตรอว์เบอร์รี กะหล่ำปลีหัวใจ บรอกโคลี ผักชีญี่ปุ่น และอะโวคาโด
โดยสถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ระบบน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตรของชาวบ้าน ส่งผลให้น้ำเข้าถึงแปลงเกษตรถึง 4,462 ไร่ จากพื้นที่ทำกินทั้งหมด 16,711 ไร่
ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งมีครัวเรือนเข้าร่วม 445 ครัวเรือน จากทั้งหมด 548 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 81.20 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรแก่นมะกรูด ที่มีกิจกรรมปลูกพืชผักเมืองหนาวและไม้ผลเศรษฐกิจและกลุ่มแก่นมะกรูดโมเดล มีกิจกรรมหลักในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตาม หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
สำหรับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำกิน สร้างผลผลิต ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30: 30: 30: 10 ซึ่งหมายถึง
-พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักนํ้า เพื่อใช้เก็บกักนํ้าฝนในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์นํ้า และพืชนํ้าต่าง ๆ
-พื้นที่ส่วนที่สอง ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้
– พื้นที่ส่วนที่สาม ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล -ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันหากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
-พื้นที่ส่วนที่สี่ ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ
ด้วยการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมข้างต้น สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยป่าเศรษฐกิจ(ทั้งไม้ผลและไผ่)ในพื้นที่ 2,603.40 ไร่ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ทำกิน 16,711 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16
นอกจากนี้ยังส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์พืชพันธุกรรมพื้นถิ่น เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ชาวบ้านรวมตัวกันตามธรรมชาติ โดยมีกิจกรรมขายของแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ คืนเมล็ดพันธุ์เข้ากลุ่ม และแปรรูปอาหาร รวมถึงการสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรในพื้นที่ จากการเพาะไม้เมืองหนาว อย่างพวกต้นคริสต์มาสและเบญจมาศ
สิ่งที่ทำคู่ขนานกันไปคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มตลาดกะเหรี่ยง ให้บริการที่พักจุดกางเต็นท์ มีการแสดงทางวัฒนธรรม พร้อมจำหน่ายผลผลิตการเกษตรพื้นถิ่น ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างในปี 2562-2563 เพิ่มขึ้นเป็น 4.56 ล้านบาท คิดเป็น 4.7 เท่า จากที่ปีแรกที่ดำเนินการปี 2558 มีรายได้เพียง 0.97 ล้านบาท หากเป็นช่วงเทศกาล อย่างเช่น ปีใหม่หรือสงกรานต์ จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แต่ละปีมีเงินหมุนเวียนในชุมชนโดยรวมมากถึง 6 ล้านบาท แม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงไป แต่ชาวแก่นมะกรูดก็ยังยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง เพราะมีพืชผักผลไม้ไว้กินกันในครัวเรือน ทั้งยังร่วมกันบริจาคให้กับพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย
โดยจุดเด่นของแก่นมะกรูดที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแก่นมะกรูดโมเดลอย่างหนึ่งก็คือ ชาวแก่นมะกรูดเองได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์แก่นมะกรูด ฉบับที่ 1 (ปี 2559-2563) และฉบับที่ 2 (ปี 2565-2568)โดยตั้งเป้าให้ครัวเรือนมีรายได้พ้นเส้นความยากจนตามเกณฑ์ของสภาพัฒน์ 102,000บาท/ปี/ครัวเรือน
วันนี้ชาวแก่นมะกรูดมีความสุขท่ามกลางสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลูกหลานที่เคยไปอยู่ กทม. และหัวเมืองใหญ่ส่วนหนึ่ง กลับบ้านเกิดและมาทำเกษตรประณีต ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวและดอกไม้ ซึ่งมีรายได้ตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่ต้องไปบุกรุกที่ป่าเหมือนสมัยก่อน ที่สำคัญได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว