ราคารับซื้อมังคุดร่วง ไม่ใช่ใคร…คนไทย(บางกลุ่ม) กับ ทุนต่างชาติ(บางคน)!!!
ไม่ถึง 1 เดือน หลังผลผลิตออกตลาด ราคารับซื้อมังคุด(ภาคตะวันออก)ถึงกับร่วงไม่เป็นท่า จากราคาก่อนผลผลิตออก รับซื้ออยู่ที่กว่า 200 บาท/กิโลกรัม มาถึง ณ วันนี้ (6/5/65) ราคาร่วงลงไปเหลือ 50 บาท 40 บาท บางพื้นที่เหลือ 25 บาท ทั้งๆที่เพิ่งต้นฤดู เมื่อไร่เรียงหาสาเหตุและข้อมูลว่า ทำไมราคาถึงตก จึงถึงบางอ้อ เพราะคนที่ทำราคารับซื้อมังคุดตกลงไปกว่าที่จะเป็น คือ ผู้ประกอบการส่งออกคนไทย(บางคน) และนายทุนต่างชาติ(บางคน)นั่นเอง
แหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในวงการค้ามังคุดมานานกว่า 10 ปี ให้ข้อมูลว่า ผลผลิตมังคุดภาคตะวันออก รวมแล้วราว 120,000 ตัน สัดส่วนในการส่งออกคล้ายทุเรียน คือ ส่งออกร้อยละ 70 ที่เหลือเป็นส่วนบริโภคในประเทศ
โดยมังคุดเริ่มออกผลผลิตรุ่นแรก ราวเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากนั้นทยอยออก แรกๆ ราคารับซื้อก่อนผลผลิตออก ขึ้นไปสูงกว่า 200 บาท ชาวสวนดีใจมาก แต่ไม่ถึง 1 เดือน ราคากลับร่วงเหลือ 25-50 บาท
แหล่งข่าวคนเดิม บอกอีกว่า ราคารับซื้อมังคุดที่ร่วงระนาว ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใด แต่มาจากผู้ส่งออก(บางคน) รวมกลุ่มกับทุนต่างชาติ(บางคน)กดราคารับซื้อ โดยราคาที่จะรับซื้อแล้วแต่ละวัน นึกอยากจะตั้งราคารับซื้อเท่าใด ก็กำหนดขึ้นเองตามใจชอบ ทั้งที่ปัจจุบันความต้องการมังคุดในต่างชาติยังมีมากและเพิ่งส่งออกไปได้ราว 2,700 ตัน จากผลผลิตประมาณ 120,000 ตัน
เมื่อไล่ตรวจสอบผู้ประกอบการมังคุดจากทั่วประเทศไทย มีรายใหญ่อยู่ 3 กลุ่ม หรือที่คนในวงการมังคุดเรียกกันว่า ขาใหญ่ ร่วมทุนกับต่างชาติทำล้งส่งออกรับซื้อมังคุดส่งไปต่างชาติ ซึ่งกลุ่มนี้ทำทุเรียนส่งออกด้วยทั้ง 3 กลุ่มนี้ แข่งขันกันค่อนข้างสูง จึงว่าจ้างล้ง หรือโรงคัดบรรจุ อื่นๆ ให้ทำมังคุดส่งในนามแบรนด์ตัวเองด้วย
แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกราย ที่ร่วมทุนกับต่างชาติ และทำทุเรียนส่งออกด้วย โดยตั้งเป้าจะส่งออกมังคุดให้ได้ถึง 100,000 ตัน จึงทำให้เกิดการแก่งแย่งกัน ซึ่งแนวโน้มราคารับซื้อมังคุดน่าจะกระเตื้อง แต่แล้วทั้ง 3 กลุ่มนี้ก็จับมือกันกดราคารับซื้อมังคุด ด้วยการอ้างเหตุผลสารพัด ทั้งโควิด-19 และด่านปิด จนนาย สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจันทบุรี ต้องออกประกาศห้ามมิให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสบิดเบือนราคาในการรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในวันนี้(6/5/65) จากที่ต้นฤดู รับซื้อกิโลกรัมละกว่า 200 บาท และลงมาเหลือกว่า 100 บาทเป็นเดือน ก่อนจะตกลงมาเหลือ 50 บาท / 40 บาท และ 25 บาท ในบางพื้นที่
ที่สำคัญข้อเสียของการรับซื้อมังคุด คือ จะไม่มีการขึ้นป้ายแสดงราคารับซื้อไว้ให้เห็นเลย นี่จึงเป็นช่องโหว่และช่องว่างที่ทำให้ชาวสวนถูกเอาเปรียบ และเกิดขึ้นมาตลอดทุกปี
อีกหนึ่งสาเหตุ ที่ทำให้ราคามังคุดร่วง เพราะชาวสวนถูกเอาเปรียบ จะเห็นได้ในช่วงที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก การรับซื้อมังคุด จะกำหนดเกรดเมื่อไปถึงโรงคัดบรรจุหรือล้ง คือ มันใหญ่/มันกลาง/มันเล็ก /มันจิ๋ว ,แล้วก็จะมีมันลาย/หัวเขีย /กากใหญ่หัวเขียว/ตกไซด์ ,แล้วก็จะมีดำ/ดอก /แตก ชุดนี้จะถูกนำมาเป็นมาตรฐานกำหนดการซื้อโดยพ่อค้า หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เอาเปรียบชาวสวน
แต่หากเป็นช่วงมังคุดหากยาก จะมีเกณฑ์รับซื้อ แค่ 2 เบอร์ คือ มัน และตกไซด์
แหล่งข่าวคนเดิมให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อราคารับซื้อมังคุดร่วงลงมา ระบบสหกรณ์ฯจะถูกนำมาใช้ แต่แล้วระบบสหกรณ์ฯที่เกิดขึ้น แทนที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการรับซื้อช่วยพยุงราคาให้ชาวสวน แล้วกระจายออกไป แต่ปรากฎว่า มีบางสหกรณ์ กลับทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อมังคุดจากชาวสวน ส่งให้ผู้ประกอบการ หรือ ล้ง อีกที ในราคาที่กำหนดโดยผู้ประกอบการกำหนด จริงเท็จอย่างไร อยากให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ช่วยตรวจสอบด้วย เพราะข่าวว่ามาเป็นแบบนี้ และมีมาเป็นหลายปีแล้ว ชาวสวนมังคุดบางที่ โดยเฉพาะเมืองจันท์ รู้กันดี จนชาวสวนต้องออกไปตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ขายกันเองแล้ว
ทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นปัญหาและสาเหตุ ที่ทำให้ราคามังคุดตกต่ำในทุกปี แล้วก็ต้องมาแก้ปัญหากันทุกปี แต่หากชาวสวนยังเพิ่งการส่งออกเป็นหลัก ไฉนเลยก็ไม่พ้นกับการถูกเอาเปรียบ เพราะราคารับซื้อกำหนดโดยพ่อค้า(บางคน) และกลุ่มทุน(บางคน) เนื่องจากคนกลุ่มนี้ คุมตลาดมังคุดได้ จึงกำหนดราคาซื้อเองได้หมด เหมือนกับลำไยภาคตะวันออก ที่ถูกคนกลุ่มนี้ คุมตลาดได้แล้วชาวสวนลำไย ขาดทุนแทบกระอักเลือดกันมาแล้ว
ปัญหาผลผลิตผลไม้และผลผลิตทางการเกษตร มีคนเคยกล่าวไว้ว่า หากเมื่อใด พ่อค้าและผู้ส่งออก คือคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน เมื่อนั้นแหละชาวสวนและเกษตรกร ก็จะตายไปเอง เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้ว
ขอบคุณข้อมูล : เสก บูรพา