กรมชลประทาน วางแผนส่งน้ำปลูกพืชฤดูแล้งเต็มศักยภาพหลังอ่างฯส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำมาก

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 อาทิตย์เศษๆ จะสิ้นสุดฤดูฝนยกเว้นภาคใต้ ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุดีเปรชั่นและร่องมรสุมถึงหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวเกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้ปริมาณในแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำเกือบเต็มอ่างฯ ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างเพียงพอ

ปัจจุบัน (23 ต.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณเก็บกักรวมกันทั้งสิ้น 64,066 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นใช้การได้ 40,141 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 20,591 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 13,895 ล้าน ลบ.ม.

312723300 497346472438431 8901418890023251762 n
กรมชลฯวางแผนส่งน้ำปลูกพืชฤดูแล้งเต็มศักยภาพ

กรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 โดยแบ่งตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ ส่วนการเกษตรจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งเครือข่ายชลประทาน ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะสิ้นสุดลง ช่วยลดความเสียหายต่อผลผลิต และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำตลอดฤดูแล้งได้อีกด้วย

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วง 23 – 27 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกมีกำลังอ่อนลง

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ในขณะที่ในช่วง25–27 ต.ค.65 ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออกจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น

ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 29 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณหภูมิจะลดลง กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะเริ่มลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป

สำหรับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง