เมื่อปี 2564 ผู้ชมไลฟ์สตรีมมิ่งในจีนมีมากถึง 703 ล้านคน และมีจำนวนไลฟ์สตรีมเมอร์ถึง 100 ล้านคน
และในปีนี้ 2565 คาดว่ามูลค่าตลาดการไลฟ์สตรีมมิ่งจะเกิน 150,000 ล้านหยวน กระทรวงทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมได้จัดให้ไลฟ์สตรีมเมอร์อยู่ในหมวดอาชีพของนักการตลาดออนไลน์ ทำให้ไลฟ์สตรีมเมอร์เป็นอาชีพใหม่ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีน
การไลฟ์สตรีมมิ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวชนบท โดยปัจจุบันเกษตรกรชาวจีนหันมาไลฟ์สตรีมมิ่งจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น เกษตรกรนครเฉิงตูก็เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวกีวี ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของนครเฉิงตู
นายหลิว หยันฝู เกษตรกรจากนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรอัจฉริยะเทียนหม่าเหลียงกั่วเหลียนต้ง เมืองตูเจียงเยี่ยน นครเฉิงตู กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน มีน้ำฝนในปริมาณมาก อีกทั้งเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลกีวีมีขนาดเล็กกว่าปีที่ผ่านมาเฉลี่ยประมาณ 20 กรัม แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อการผลิตน้ำตาลของกีวี ทำให้ความหวานสูงขึ้นและรสชาติดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ราคาสูงขึ้นเช่นกัน โดยกีวีสร้างรายได้ให้ตนเองปีละประมาณ 1.5 แสนหยวน
นางฟู่ หงเยี่ยน เกษตรกรจาก Dujiangyan Guomeizi Familiy Farm ในหมู่บ้านจินเซิ่ง ตำบลเทียนหม่าระบุว่า ปัจจุบันฟาร์มของเธอได้หันมาจำหน่ายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งด้วยตนเองเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องรอพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อผลไม้ในฟาร์มเช่นในอดีตและด้วยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ซึ่งสามารถจัดส่งถึงมือผู้บริโภคได้ภายใน 2-3 วัน จึงไม่เกิดปัญหาเรื่องผลไม้เน่าเสียระหว่างการขนส่ง
นายอู๋ ฉี เจ้าหน้าที่ศูนย์โลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซผลไม้จีนตะวันตก ณ อำเภอผู่เจียง นครเฉิงตู เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่กว่า 30,000 รายที่ปฏิบัติงานในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซชนบทในเขตผู่เจียง คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมดของอำเภอผู่เจียงมีบริษัทขนส่งด่วนกว่า 30 แห่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเกษตรของอำเภอผู่เจียงอยู่ในอัตราที่ต่ำสุดในมณฑลเสฉวน
นายอู๋ ฉี เปิดเผยอีกว่า การจำหน่ายกีวีผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในอำเภอผู่เจียง คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณกีวีทั้งหมด โดยมีมูลค่าประมาณ 6 ล้านหยวนต่อวัน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกษตรกรในอำเภอผู่เจียงยังคงจำหน่ายกีวี่ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังสนับสนุนให้ร้านค้าในอีคอมเมิร์ซเปิดให้สั่งจองกีวีล่วงหน้า รวมถึงประสานกับห้างสรรพสินค้าให้เพิ่มปริมาณการวางจำหน่ายกีวีอีกด้วย
เกษตรกรไทยอาจพิจารณาหันมาทำไลฟ์สตรีมมิ่งจำหน่ายสินค้าผ่านทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดกว้างทางการซื้อขาย สามารถกำหนดราคาได้อย่างอิสระตามความต้องการของตลาด ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้การไลฟ์สตรีมมิ่งยังเป็นโอกาสให้เกษตรกรสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของตลาด ซึ่งการเพาะปลูกสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาดจะช่วยลดปัญหาผลผลิตราคาตกหรือล้นตลาดอีกด้วย
ที่มา-ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู