สธ.เผย ปี 65 ขยายคลินิกกัญชาทางการแพทย์แล้ว 1,026 แห่งทั่วประเทศ ผลวิจัยพบช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย

กระทรวงสาธารณสุข เผย ปี 2565 ขยายบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมวิชาการต่างๆ และสถานพยาบาลเอกชน รวม 1,026 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 142.18 โดยมีผลงานวิจัยหลายฉบับพบว่า ยากัญชาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย เตรียมศึกษาต่อยอดนำไปใช้รักษา “มะเร็ง-นอนไม่หลับ” พร้อมกำกับติดตามผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และการวิจัยโดยได้ขยายคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ข้อมูลล่าสุด เดือนกันยายน 2565 มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันในโรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ 35 แห่ง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 894 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชนในทุกเขตสุขภาพ 97 แห่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังให้ความสำคัญกับการติดตามและกำกับผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

istockphoto 483300738 612x612 1
กัญชาทางการแพทย์

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า ภายหลังมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมวิชาการต่าง ๆ โรงพยาบาล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรมและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ศึกษาผลงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ จำนวนทั้งสิ้น 60 ฉบับ ทั้งด้านการนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด ผลกระทบเชิงนโยบายและการออกแบบระบบ การศึกษาสายพันธุ์และการปลูกที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาสูตรตำรับและผลิต ทำให้เห็นแนวทางที่สามารถต่อยอดได้ในเรื่องโรคมะเร็ง และอาการนอนไม่หลับ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการวิจัยทั่วโลก

รวมถึงมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ให้ผลตรงกันว่า ยากัญชาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนให้ยากัญชาทั้ง 2 ตำรับ คือ THC เด่น และ THC:CBD (1:1) เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้มากขึ้น ส่วนยาแผนไทยหลายตำรับ เช่น ยาศุขไสยาศน์ ยาน้ำมันกัญชาอาจารย์เดชา และยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 มีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการนอนไม่หลับ โดยข้อมูลปี 2565 มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยากัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 142.18

ด้านโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก ผลิตและใช้ ตั้งแต่ ปี 2562 และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 มีการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 2,000 ราย ที่รับยากัญชาจากคลินิกของโรงพยาบาล และยังมีผู้ป่วยราว ๆ 10,000 รายทั่วประเทศ ที่รับยาที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรผลิต ทำให้เห็นถึงศักยภาพของยากัญชาชัดเจน โดยพบว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการปวด นอนไม่หลับและเบื่ออาหาร กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง และโรคสะเก็ดเงิน ทำให้ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งสามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันได้ ส่วนการใช้ในโรคปวดเส้นประสาทและพาร์กินสัน ยังต้องติดตามผลการรักษาต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า หลังจากปลดล็อกกัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา นโยบายกัญชาเสรีเพื่อสุขภาพและการแพทย์ไม่ได้ก่อผลกระทบด้านลบต่อสังคมมากอย่างที่มีการกังวล เห็นได้จากจำนวนผู้เข้ารับการรับการรักษาและผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากกัญชา ณ ห้องฉุกเฉิน เฉลี่ยเพียงวันละ 1 คน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านคน โดยทั้งหมดเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลข่าวสารการใช้กัญชา กัญชงที่ถูกต้องผ่านช่องทางต่าง ๆ ของรัฐ ไปทั่วประเทศ