ประวิตร ประชุม กนป. ย้ำมาตรการเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันให้เป็นรูปธรรม ขยายส่งออกน้ำมันปาล์ม-ไฟเขียวประกันรายได้เพิ่มเงินชดเชยให้ชาวสวน

วันที่ 19 ต.ค. 65 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/2565 ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม พร้อมบริหารการนำเข้าคราวละ 3ปี (ปี 66-68) โดยให้เป็นไปตามข้อผูกพันของทุกกรอบการค้า และมีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับกรอบองค์การ การค้าโลก (WTO) โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้มีสิทธิ์นำเข้าและกระจายให้ผู้ผลิตภายในประเทศ ตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เป็นผู้จัดสรร เพื่อเป็นการรักษาสมดุลการนำเข้า และไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของเกษตรกร และเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 65-66 โดยเริ่มจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้งวดแรกให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่ ก.ย. 65 เพื่อให้มีความต่อเนื่อง จากโครงการ ปี64-65 รวมทั้งเห็นชอบขยายเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี65

palm 1464655 960 720
ประชุม กนป. ย้ำมาตรการเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร ได้กำชับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติตามมติ กนป.ในวันนี้อย่างเคร่งครัด และให้เร่งรัดการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้ได้ราคาปาล์มที่สูงขึ้น และติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรองรับการแก้ปัญหาและป้องกันราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำด้วย และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในอาชีพการทำสวนปาล์ม ที่จะส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันจากพืชที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่น ๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรปซีด (Rapeseed) น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ของผลปาล์มสดจะสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น 6-10 เท่า

แม้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.9% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกจึงไม่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะกำหนดทิศทางราคาเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร (สัดส่วนรวมกันเกือบ 60%) ที่เหลือ 13.6% กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น

ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลจาก 1) ผลผลิตปาล์มสดต่อไร่ของไทยเฉลี่ยที่ 2.7 ตัน (อินโดนีเซีย 2.9 ตัน และมาเลเซีย 3.3 ตัน) 2) อัตราการสกัดน้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ของไทยเฉลี่ยที่ 17-18% (มาเลเซียและอินโดนีเซียที่ 20% และ 22% ตามลำดับ) เนื่องจากเกษตรกรไทยมักเก็บเกี่ยวผลปาล์มก่อนสุก อัตราการให้น้ำมันจึงต่ำ และ 3) โครงสร้างเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 20-25 ไร่ต่อราย ต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่มากกว่า 80% และมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยมากกว่า 200 ไร่ต่อราย

นอกจากนี้ การจัดการผลผลิตของเกษตรกรไทยยังขาดประสิทธิภาพ เช่น กระบวนการคัดเลือกพันธุ์ปาล์ม การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาผลปาล์มสด อีกทั้งการขายผลปาล์มสดมักต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือลานเทปาล์มน้ำมันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตต่อรายน้อยจึงไม่คุ้มที่จะขนส่งไปขายตรงกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ