จุรินทร์ ปลื้มราคาปาล์มขยับ เตรียมเข็นมาตรการช่วยส่งออก กก.ละ 2 บาท ดันราคาขึ้นอีกรอบ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันว่า ผลจากการที่อินโดนีเซียเร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มโดยการงดเก็บภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มและมาเลเซียเองก็เร่งรัดการส่งออกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน ได้ส่งผลให้น้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีปริมาณมากขึ้น ทำให้ราคาปาล์มปรับลดลงมาโดยต่อเนื่องแต่โดยมาตรการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ปรับเพิ่มส่วนผสมการใช้น้ำมันปาล์มในดีเซลจาก B5 เป็น B7 บังคับใช้เมื่อ 10 ต.ค. 65 มีผลให้ราคาปาล์มในประเทศเริ่มกลับมาขยับสูงขึ้น

palm 1464654 960 720
ราคาปาล์มขยับ

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ราคาผลปาล์มมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นไปได้อีกในวันที่ 19 ต.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)ให้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม กก.ละ 2 บาท ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าเดิม ซึ่งตนเชื่อว่าหากผ่านความเห็นชอบ ก็จะมีผลให้ราคาผลปาล์มในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้อีกรอบ นายจุรินทร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันจากพืชที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่น ๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรปซีด (Rapeseed) น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ของผลปาล์มสดจะสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น 6-10 เท่า

แม้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.9% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกจึงไม่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะกำหนดทิศทางราคาเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร (สัดส่วนรวมกันเกือบ 60%) ที่เหลือ 13.6% กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น

ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลจาก 1) ผลผลิตปาล์มสดต่อไร่ของไทยเฉลี่ยที่ 2.7 ตัน (อินโดนีเซีย 2.9 ตัน และมาเลเซีย 3.3 ตัน) 2) อัตราการสกัดน้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ของไทยเฉลี่ยที่ 17-18% (มาเลเซียและอินโดนีเซียที่ 20% และ 22% ตามลำดับ) เนื่องจากเกษตรกรไทยมักเก็บเกี่ยวผลปาล์มก่อนสุก อัตราการให้น้ำมันจึงต่ำ และ 3) โครงสร้างเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 20-25 ไร่ต่อราย ต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่มากกว่า 80% และมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยมากกว่า 200 ไร่ต่อราย

นอกจากนี้ การจัดการผลผลิตของเกษตรกรไทยยังขาดประสิทธิภาพ เช่น กระบวนการคัดเลือกพันธุ์ปาล์ม การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาผลปาล์มสด อีกทั้งการขายผลปาล์มสดมักต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือลานเทปาล์มน้ำมันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตต่อรายน้อยจึงไม่คุ้มที่จะขนส่งไปขายตรงกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ