สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษของเอฟเอโอ (FAO Goodwill Ambassador for Asia and the Pacific) ทรงพระราชทานพระราชดำรัสผ่านสื่อวิดีทัศน์เนื่องในวันอาหารโลก
วันที่ 17 ตุลาคม 2565 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ จัดงานวันอาหารโลกประจำปี 2565 เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนตื่นตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านอาหารที่ประเทศต่างๆและประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้แก่ ผลกระทบจากความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ราคาปุ๋ยและราคาอาหารที่ผันผวนอย่างหนัก ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง
โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตพิเศษของเอฟเอโอ (FAO Goodwill Ambassador for Asia and the Pacific) ทรงพระราชทานพระราชดำรัสผ่านสื่อวิดีทัศน์เนื่องในวันอาหารโลก ความตอนหนึ่งว่า
“ระบบอาหารและเกษตร (Agrifood system) ควรถูกปรับเปลี่ยนพลิกโฉมให้มีความยืดหยุ่น ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันและความตึงเครียดในสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ภัยธรรมชาติและโรคระบาดต่างๆ เช่นโควิด19 ประเทศควรมีมาตรการที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งให้เกิดความคุ้มครองทางสังคม และลดความเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสตรี ชนพื้นเมือง และเกษตรกรรายย่อย อนึ่ง การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานที่ ความทุพพลภาพ หรือสถานะการย้ายถิ่นฐาน เป็นความมุ่งมั่นหลักของวาระ 2030”
วันอาหารโลก จัดขึ้นเป็นประจำในวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เพื่อให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจถึงสถานะของประชากรโลกกว่า 828 ล้านคนที่กำลังเผชิญกับความอดอยาก ทุพโภชนาการ ขาดสารอาหารโดยคำขวัญวันอาหารโลกปีนี้คือ “การผลิตที่ดีขึ้น โภชนาการที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leaving no one behind – Better production, better nutrition, a better environment and a better life.)
“เราจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ที่อ่อนแอที่สุด รวมถึงผู้ผลิตรายย่อย ด้วยการลงทุนในระบบอาหารและเกษตรทั่วโลก ซึ่งหมายถึงการเข้าถึงการฝึกอบรม ส่งเสริมการวิจัย วิทยาศาสตร์ ข้อมูลเทคโนโลยีนวัตกรรม การสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเป็นศูนย์กลางของการพลิกโฉมระบบอาหารและเกษตรได้” ดร.ฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ของเอฟเอโอ กล่าวในแถลงการณ์ผ่านทางสื่อวิดิทัศน์
“เราจำเป็นต้องมีนโยบายการจ้างงานและการบริการที่เหมาะสมในชนบท เพื่อยุติการใช้แรงงานเด็ก มีแนวทางปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและสนับสนุนชาวชนบทและชนพื้นเมืองที่เป็นผู้ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ของโลกไปด้วย รัฐบาลแต่ละประเทศในฐานะผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องจัดเตรียมมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่ทันเวลาและตรงเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้ที่เปราะบางที่สุด”
การประชุมในรูปแบบออนไลน์ครั้งนี้ยังมีเวทีเสวนาจากภาคสังคมที่ทำงานเพื่อยุติความหิวโหย ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศต่าง ๆ
โบนิตา ชาร์มา ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของกลุ่มนักนวัตกรรมและผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากเนปาล กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเยาวชนในภูมิภาคเพื่อการสร้างโภชนาการที่ดีขึ้นผ่านการใช้นวัตกรรม
นาง เลนนี เอ็น โรซาลิน (Ms Lenny N. Rosalin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเสริมสร้างพลังของผู้หญิงและการคุ้มครองเด็ก ด้านความเท่าเทียมทางเพศของอินโดนีเซีย (Indonesia’s Deputy Minister for Gender Equality in the Ministry of Women’s Empowerment and Child Protection) และประธานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยสตรี (ASEAN Committee on Women – ACW)นำเสนอวิธีเข้าถึงกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีและเยาวชนในชนบท ชุมชนพื้นเมือง คนพิการ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ นางปนัดดา บุญผลา รองผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (International Labor Organization:ILO) และ นาย เจมส์ เลย์สัน (Mr James Leyson) กรรมการผู้จัดการมูลนิธิ Scholars of Sustenance (SOS) สาขาประเทศไทยและฟิลิปปินส์
ปัจจุบันเอฟเอโอทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในเอเชียและแปซิฟิกเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
นาย จง จิน คิม ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้แทนเอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า “เป้าหมายของเรา คือโลกที่มีอาหารปลอดภัยและยั่งยืน มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกคน เราสนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อการบรรลุวาระ 2030 ผ่านการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมไปสู่ระบบอาหารและเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การผลิตที่ดีขึ้น โภชนาการที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ Four Betters”
“การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังหมายถึงการทำงานหลายด้านไปพร้อมกัน สำหรับเอฟเอโอนั้นรวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานและการบริการที่ดีในชนบท การประกันการคุ้มครองทางสังคม การยุติการใช้แรงงานเด็ก และการสนับสนุนการผลิตอาหารในท้องถิ่นสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางในประเทศที่มีวิกฤตด้านอาหาร นอกจากนี้ยังหมายถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการสนับสนุนชาวชนบทและชนพื้นเมืองที่เป็นผู้ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ของโลก” นายคิม กล่าวเสริม