ความหลากหลายของเมนูเส้นในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นพื้นฐานที่ทำให้รัฐบาลกว่างซีประกาศแผนผลักดันอุตสาหกรรมเส้นขาว (เส้นที่ผลิตจากข้าวจ้าว) ที่มีเอกลักษณ์ของกว่างซี โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาธุรกิจเส้นขาวสู่ระบบอุตสาหกรรม และการผลักดันให้ภาคธุรกิจขยายตลาดต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าว่าในปี 2568 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเส้นขาวของกว่างซีจะสร้างรายได้จากการจำหน่ายได้มากกว่า 1 แสนล้านหยวน
‘หลัวซือเฝิ่น’ หรือเส้นหมี่หอยขมในน้ำมันพริกของเมืองหลิ่วโจว กลายเป็นเมนู signature ของกว่างซี และเป็นต้นแบบเมนูเส้นขาวที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศจีน ประกอบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาด e-Commerce และเทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ในยุคดิจิทัลช่วยให้ ‘หลัวซือเฝิ่น’ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และไปให้ไกลถึง “ตลาดโลก” แล้ว มีจำหน่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย
ปรากฎการณ์ดังกล่าวนับว่าน่าจับตามอง โดยภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอาหารไทยพร้อมทาน (Ready to eat) ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยมุ่งเน้นการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการด้านอาหาร การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาสินค้าอาหารในรูปแบบของสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอาหารไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความเป็นไทยแท้ และการพัฒนาช่องทางจำหน่ายทางดิจิทัล
สังคมจีนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนในเมืองเศรษฐกิจมีการใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ มีการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และเกิดไลฟ์สไตล์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในผู้บริโภคบางกลุ่ม ปัจจัยทางสังคมเหล่านี้สร้างความต้องการในอาหารหลากหลายรูปแบบ และอาจเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารไทยรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์สังคมจีนได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมทาน อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารสำหรับผู้ออกกำลังกาย และอาหารเฉพาะโรค
ชาวกว่างซีมักจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการรับประทานก๋วยเตี๋ยวสักชาม หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “หมีเฝิ่น” (米粉) เมนูเส้นขาว (เส้นที่ผลิตจากข้าวจ้าว) มีทั้งแบบเส้นกลมและเส้นแบนให้เลือกตามความชอบ ท่านรู้หรือไม่ว่า…ที่กว่างซีมีเมนูเส้นให้เลือกรับประทานมากกว่า 20 ชนิดตามแต่ละท้องที่ แต่ที่เป็นเมนู signature ของกว่างซี ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น ‘หลัวซือเฝิ่น’ (螺蛳粉) หรือเส้นหมี่หอยขมในน้ำมันพริก ของดีของเมืองหลิ่วโจว
นอกจาก ‘หลัวซือเฝิ่น’ ซึ่งกำลังฮิตติดเทรนด์โลกโซเชียลจีนในขณะนี้แล้ว ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังมีเมนูเส้นขาวที่มีชื่อเสียงอีก 2 เมนู คือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำพะโล้สูตรเด็ดของเมืองกุ้ยหลิน หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘กุ้ยหลินหมีเฝิ่น’ (桂林米粉) และก๋วยเตี๋ยวเพื่อนเก่าที่มีถั่วเต้าซี่กับหน่อไม้ดองเป็นพระเอกของนครหนานหนิง หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘หลาวโหยวเฝิ่น’ (老友粉) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเส้นขาวของกว่างซีเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อเร่งผลักดันอุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่นและอุตสาหกรรมเส้นขาวที่มีเอกลักษณ์ของกว่างซีสู่การพัฒนาเชิงคุณภาพ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรมและการแนะนำให้ภาคธุรกิจขยายตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าว่า ในปี 2568 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเส้นขาวของกว่างซีจะสร้างรายได้จากการจำหน่ายได้มากกว่า 1 แสนล้านหยวน
แนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นขาวของกว่างซีให้ความสำคัญกับการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย และการเพิ่มมูลค่าสินค้าตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ (1) การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมเส้นขาว (2) การส่งเสริมการคลัสเตอร์ธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรม (3) การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี (Core Technology) (4) การพัฒนาแบรนด์ ซึ่งจะช่วยกรุยทางไปสู่การขยายตลาด (5) การเพิ่มมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดและมาตรฐานสินค้า และ(6) การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงผสมผสานกับวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
สูตรสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นขาวในกว่างซียังไม่หมดเพียงเท่านี้ การศึกษาและบ่มเพาะบุคลากรเพื่อป้อนสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเส้นขาวมีรากฐานที่มั่นคง ตัวอย่างสำคัญ เช่น การจัดตั้ง “วิทยาลัยเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น”เป็นที่แรกของสถาบันวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะหลิ่วโจว (Liuzhou Vocational & Technical College/柳州职业技术学院) เพื่ออบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยในด้านการผลิตและการพัฒนาธุรกิจที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและเศรษฐกิจกระแสใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
“หลัวซือเฝิ่น’ เป็นต้นแบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นขาวประเภทอื่นๆ ในกว่างซี ธุรกิจที่เริ่มต้นจากร้านเล็ก ๆ ข้างทาง เติบโตขึ้นเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูงหลักหมื่นล้านหยวนในเวลาอันสั้น ความโดดเด่นในเรื่องรสชาติ ซึ่งมีทีเด็ดอยู่ที่น้ำซุปรสหอยขมรสชาติเผ็ดจัดจ้านที่ผสมผสานกับเครื่องเคียงที่หลากหลาย ประกอบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาด e-Commerce และเทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์ในยุคดิจิทัล ช่วยให้ ‘หลัวซือเฝิ่น’ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเพราะมีความฝันตั้งแต่แรกว่าต้องพาธุรกิจ ‘หลัวซือเฝิ่น’ ไปให้ไกลถึง “ตลาดโลก” จนถึงวันนี้ ‘หลัวซือเฝิ่น’ ได้ก้าวไปไกลในทุกทวีปทั่วโลกแล้ว มีจำหน่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย
จากข้อมูลพบว่า ปี 2563 #หลัวซือเฝิ่น มักติดเทรนด์อันดับหนึ่งในเวยปั๋ว (ทวิตเตอร์ของจีน) อยู่บ่อยครั้ง และในรายงานของ iiMedia Research ระบุว่า หลัวซือเฝิ่นกึ่งสำเร็จรูปของเมืองหลิ่วโจวมีมูลค่าการผลิตกว่า 9 พันล้านหยวน หรือกว่า 45,000 ล้านบาท (ปัจจุบัน ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประเทศไทยมีมูลค่าราว 17,000 ล้านบาท) โดย 51.54% ของผู้บริโภคซื้อหลัวซือเฝิ่นผ่านร้านออนไลน์ และ 22.03% ซื้อผ่านการไลฟ์สด ตัวอย่างเช่น การไลฟ์สดของ KOL ชื่อดังชาวจีน Austin Li หรือหลีเจียฉี (李佳琦) ขายหลัวซือเฝิ่น 26,000 กล่อง (ราว 2.6 แสนห่อ) หมดเกลี้ยงภายใน 2 นาที
ข้อมูลที่น่าสนใจจากเมืองหลิ่วโจว พบว่า ช่วง 5 เดือนแรก ปี 2564 เมืองหลิ่วโจวมีกำลังการผลิตเฉลี่ยต่อวัน 5.06 ล้านห่อ สร้างยอดขายรวม 76,400 ล้านหยวน และมีการส่งออกไปต่างประเทศ 48 ล็อต คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 9.8 ล้านหยวน ขยายตัว 132.8%(YoY)
โดยที่ “อาหารไทย” เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยม และมีดีมานด์ในตลาดจีนอยู่แล้ว ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง เห็นว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอาหารไทยพร้อมทาน (ready to eat) ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยมุ่งเน้นการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการด้านอาหาร การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาสินค้าอาหารในรูปแบบของสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอาหารไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความเป็นไทยแท้ และการพัฒนาช่องทางจำหน่ายทางดิจิทัล
ทั้งนี้ สังคมจีนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนในเมืองเศรษฐกิจมีการใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ มีการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ และเกิดไลฟ์สไตล์ที่มีความเฉพาะเจาะจงในผู้บริโภคบางกลุ่ม ปัจจัยทางสังคมเหล่านี้สร้างความต้องการในอาหารหลากหลายรูปแบบ โดย “อาหารเพื่อสุขภาพ” เป็นหนึ่งในเทรนด์กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารไทยรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์สังคมจีนได้และสามารถเพิ่มมูลค่า (value added) ให้กับอาหารไทยได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารพร้อมทาน อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารสำหรับผู้ออกกำลังกาย และอาหารเฉพาะโรคที่เน้นฟังก์ชันสำหรับป้องกันและควบคุมอาการของโรค การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยความพร้อมและความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ที่มา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง