รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์ระดมขนส่งเสบียงอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นส่งถึงมือเกษตรกร โดยขณะนี้มีสัตว์กว่า 4 ล้านตัวใน 19 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย พร้อมลุยช่วยเหลือสัตว์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการกรมปศุสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งการอพยพสัตว์ ส่งเสบียงอาหารสัตว์ รวมถึงมอบเวชภัณฑ์ในการสร้างเสริมสุขภาพสัตว์ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานเพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศแล้ว
ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย จึงกำชับให้หน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยทันทีที่วอร์รูมซึ่งจัดตั้งทั้งในส่วนกลางและทุกจังหวัดได้รับทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ได้ย้ำให้ขนส่งเสบียงอาหารสัตว์ไปถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง ล่าสุดวานนี้ (14 ต.ค.) นำส่งโดยรถบรรทุกหญ้าอาหารสัตว์ไปยังอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษซึ่งรถบรรทุกต้องลุยน้ำท่วมสูง จากนั้นนำลงเรือท้องแบนอีกทอดเพื่อไปให้ถึงชุมชน จนกระทั่งปศุสัตว์ที่เกษตรกรเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่สูงได้กินหญ้าที่นำไปให้ พร้อมกันนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าไปดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย
สำหรับรายงานจากศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กรมปศุสัตว์กรณีสถานการณ์น้ำท่วม น้ำไหลหลาก และท่วมขังระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 14 ตุลาคม 2565 (ข้อมูลณ 14 ตุลาคม 2565 เวลา 18.00 น.) มีดังนี้
1. พื้นที่ได้รับผลกระทบสะสมรวม 19 จังหวัด 139 อำเภอ 651 ตำบล 2,466 หมู่บ้าน โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้แก่ พระนครอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกร 67,762 ราย
ส่วนสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม 4,469,563 ตัว ประกอบด้วย โค 193,358 ตัว กระบือ 42,078 ตัว สุกร35,949 ตัว แพะ/แกะ 14,357 ตัว และสัตว์ปีก 4,183,821 ตัว รวมถึงแปลงหญ้าได้รับผลกระทบ 2,002.75 ไร่
2. กรมปศุสัตว์ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าสะสมรวม ดังนี้
– อพยพสัตว์ 210,920 ตัว
– รักษาสัตว์ 1,582 ตัว
– แจกจ่ายถุงยังชีพ 1,570 ถุง
– แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 873,710 กิโลกรัม
– แจกจ่ายเวชภัณฑ์เสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 23,606 ชุด ประกอบด้วย แร่ธาตุ วิตามินผง และยาปฏิชีวนะชนิดผง
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ย้ำให้กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมสำรวจความเสียหายของเกษตรกรทันทีที่น้ำลด เพื่อขอรับการชดเชย ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดความสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องการรับการช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 0 2653 4444 ต่อ 3315 หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์: [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที.