วันนี้ (15 ต.ค.65) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำชับส่วนราชการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงเคลื่อนย้ายคน สิ่งของ และสัตว์เลี้ยงไปในที่ปลอดภัย เน้นย้ำให้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น สำหรับการดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดการช่วยเหลือแก่เกษตรอย่างเต็มที่ ผ่านการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์ผลกระทบและความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านปศุสัตว์ ที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 28 กย – 14 ตค 65 มีดังนี้
1.ได้รับผลกระทบสะสมรวม 19 จังหวัด 139 อำเภอ 651 ตำบล 2,466 หมู่บ้าน (อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมินครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอนพิษณุโลก สุโขทัย กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์)
-เกษตรกร 67,762 ราย
-สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,469,563 ตัว (โค 193,358 ตัว กระบือ 42,078 ตัว สุกร 35,949 ตัว แพะ/แกะ 14,357 ตัว สัตว์ปีก 4,183,821 ตัว)
-แปลงหญ้าได้รับผลกระทบ 2,002.75 ไร่
2.ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าสะสมรวม ดังนี้
-อพยพสัตว์ 210,920 ตัว
-รักษาสัตว์ 1,582 ตัว
-แจกจ่ายถุงยังชีพ 1,570 ถุง
-แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 873,710 กิโลกรัม
-แจกจ่ายเวชภัณฑ์เสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 23,606 ชุด(แร่ธาตุ วิตามินผง ยาปฏิชีวนะชนิดผง)
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ได้ตั้งวอร์รูมทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์ พร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศ นายเฉลิมชัยฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กำชับให้มีการจัดหน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือเร็วที่สุด ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำรวจความเสียหายของเกษตรกรเพื่อขอรับการชดเชย
สำหรับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ที่ต้องการรับการช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 02653 4444 ต่อ 3315 หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที